ส.อ.ท.เปิดแผนป้องกันโควิดในภาคอุตสาหกรรม-เล็งจัดหาวัคซีนทางเลือกเพิ่ม

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หลังจากที่ ส.อ.ท. ได้จัดตั้ง “คณะทำงานช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19” อย่างเร่งด่วนภายใต้มาตรการ “ป้องกัน รักษา เยียวยา” เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน สังคม สมาชิกและผู้ประกอบการไทยนั้น ส.อ.ท. ยังได้จัดเตรียมแนวทางการป้องกันและรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในภาคอุตสาหกรรม

โดยได้มีการประชุมหารือกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข (สธ.) เมื่อวานนี้ (29 ก.ค.) โดยรองนายกฯ ได้อนุมัติใน 3 มาตรการหลัก ได้แก่

1. การจัดอบรมวิธีการใช้ชุดตรวจโควิดแบบเร่งด่วน (Antigen Test Kit) หรือ ATK อย่างถูกต้อง โดยให้ตรวจอย่างน้อย 20% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด

2. การจัดอบรมการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในสถานประกอบการด้วยการทำ Bubble and seal โดยไม่ต้องปิดโรงงานสำหรับสถานประกอบการที่มีพนักงานตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป ส่วนสถานประกอบการที่มีพนักงานน้อยกว่า 200 คน แนะนำให้ใช้มาตรฐาน Thai Stop Covid ของกระทรวงอุตสาหกรรม

3. การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในสถานประกอบการรูปแบบ Community Isolation (CI) รับรองโดยสาธารณสุขจังหวัดและดูแลโดยโรงพยาบาลในสังกัดประกันสังคม ซึ่งสถานประกอบการแต่ละแห่งจะต้องมี Heathy Leader อย่างน้อย 2 คน นอกจากนี้จะมีการนำระบบแจ้งเตือนผู้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ (Exposure Notification Express: ENX) ที่พัฒนาขึ้นโดย Google และ Apple มาใช้เพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาดลดการติดเชื้อและการเสียชีวิต ซึ่ง ส.อ.ท. เสนอตัวเป็นผู้ดูแลระบบและประสานงาน โดยจะนำร่องเพื่อใช้งานในภาคอุตสาหกรรมก่อน

ด้านมาตรการที่คณะทำงานช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ได้ออกมาทั้งหมด 3 ข้อ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 คือ 1. ป้องกัน คือ ช่วยจัดหาชุดตรวจ Antigen Test Kid (ATK) แล้วกว่า 55,000 ชุด พร้อมแนะนำวิธีการใช้งาน โดยจะมีการจัดหาเพิ่มอีก 20,000 ชุด, ส่งเสริมปลูกฟ้าทะลายโจร ในโรงงานสมาชิก 12,000 โรง และผลักดันการใช้แอปพลิเคชั่น Apple Google ENX แจ้งเตือนผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด 2. รักษา คือ ประสานส่งต่อผู้ที่ตรวจ ATK เป็นบวกไปโรงพยาบาล, บริจาคห้องความดันลบ และบริจาคเครื่อง High flow ของม.พระจอมเกล้าลาดกระบัง และ 3. เยียวยา คือ ร่วมกับสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยช่วยเหลือ SME, ขอหักภาษีค่าวัคซีนทางเลือก และชุดตรวจโควิดได้ 2 เท่า, ยกเว้นภาษีนิติบุคคล SME 3 ปี, เสนอเพิ่มการค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ไม่น้อยกว่า 60%, โครงการ Faster Payment จ่าย Supplier SME 30 วัน และโครงการ Labor Matching

 

ส.อ.ท. สำรวจความต้องการจัดหาวัคซีนทางเลือกเพิ่มใน ส.ค.

 

สำหรับประเด็นเรื่องการจัดสรรวัคซีนให้แก่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถจัดสรรวัคซีนให้ภาคอุตสาหกรรม ตามที่มีการตกลงไว้ ดังนั้น ส.อ.ท. จึงจำเป็นต้องจัดหาวัคซีนทางเลือกจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เพิ่มในเดือน ส.ค. 64 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุย และการสำรวจความต้องการของโรงงานต่างๆ โดยคาดว่าการสำรวจรอบนี้จะได้รับความสนใจจำนวนมาก เนื่องจากทางภาคอุตสาหกรรม ยังฉีดวัคซีนได้ไม่ถึง 10%

ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ปัญหาการจัดสรรวัคซีนให้กับผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ที่มีภาคอุตสาหกรรมรวมอยู่ด้วย ได้เกิดความล่าช้า และไม่ครบจำนวน โดยก่อนหน้านี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ได้แจ้งกับ ส.อ.ท.ว่าผู้ประกันตน ม.33 จะได้รับจัดสรรวัคซีนในเดือนมิ.ย. จำนวน 1 ล้านโดส และตั้งแต่เดือนก.ค. เป็นต้นไปจ ได้รับการจัดสรรวัคซีนจำนวน 1.5 ล้านโดส ซึ่งจำนวนนี้เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่อยู่ใน ม.33 ถือว่าไม่เพียงพออยู่แล้ว เนื่องจากมีอยู่ประมาณ 10 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่สามารถดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ ในเดือนมิ.ย. จึงได้รับวัคซีนสำหรับ ม.33 เพียง 6-7 แสนโดส และในเดือนก.ค. อธิบดีกรมแรงงานแจ้งว่าไม่มีตัวเลขการจัดสรรวัคซีน ส่วนในเดือนส.ค. จะได้รับการจัดสรรวัคซีนจำนวน 8 แสนโดส ซึ่งจำนวนนี้ถือว่าน้อยมาก และยังไม่ถึง 10% ของจำนวนผู้ประกันตน ใน ม.33 ซึ่ง ส.อ.ท.คาดหวังว่าจะได้รับการจัดสรรวัคซีนจำนวน 1.5 ล้านโดสตามเดิม

“ขณะนี้สภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ อุตสาหกรรมส่งออกที่เป็นรายได้ของประเทศมีผู้ติดเชื้อในทุกกลุ่ม วัคซีนเป็นทางออกของการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดีที่สุด วอนรัฐบาลจัดหาวัคซีนทั้งวัคซีนของรัฐ และวัคซีนทางเลือกให้ครอบคลุมจำนวนประชาชน เพื่อทำให้อุตสาหกรรมสามารถดำเนินงานต่อไปได้” นายสุพันธุ์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ก.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top