นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) เปิดเผยว่า การเข้าร่วมลงทุน ในบริษัท PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ประเทศอินโดนีเซีย ผ่านบริษัทย่อยที่จัดตั้งขึ้นใหม่ PT TOP Investment Indonesia โดยเข้าถือหุ้น CAP ที่สัดส่วน 15.38% ใช้เงินลงทุนมูลค่ารวมไม่เกิน 1,183 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นับเป็นก้าวสำคัญของไทยออยล์ในการเดินหน้าสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ จากเดิมที่มีธุรกิจสายอะโรเมติกส์อยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้โครงสร้างธุรกิจของไทยออยล์มีความสมบูรณ์ครอบคลุมธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมีอย่างครบวงจร โดยสายโอเลฟินส์มีข้อได้เปรียบที่สามารถนำไปเป็นสารตั้งต้นของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ขั้นปลายต่างๆ ที่หลากหลายกว่าสายอะโรเมติกส์
ขณะที่ประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ในปริมาณสูง มีแนวโน้มเติบโตดีในอนาคต และยังต้องพึ่งพาการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ โดย CAP เป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีชั้นนำรายใหญ่ที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย อีกทั้งยังเป็นผู้ดำเนินกิจการโรงงานแยกแนฟทา (Naphtha Cracker) เพียงแห่งเดียวของประเทศ มีกำลังการผลิตเอทิลีน (ethylene) ประมาณ 900,000 เมตริกตันต่อปี และพอลิโอเลฟินส์ (Polyolefins) ที่มีคุณภาพสูง อีกทั้งยังเป็นผู้ผลิตสไตรีนโมโนเมอร์ (SM) และบิวทาไดอีน (BD) และจะดำเนินการขยายกำลังการผลิตและก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีแห่งที่ 2 (CAP 2) ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกเท่าตัว ในปี 2569
“การเข้าลงทุนครั้งนี้ของไทยออยล์ก่อให้เกิดประโยชน์หลายด้าน ทั้งการได้ร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัท CAP และบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ CAP ถือเป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญระหว่างผู้ประกอบการในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดความร่วมมือในการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต
ขณะเดียวกันการร่วมลงทุนใน CAP ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตปิโตรเคมีชั้นนำทำให้ไทยออยล์สามารถก้าวเข้าสู่ธุรกิจโอเลฟินส์ได้อย่างรวดเร็ว และทำให้โครงสร้างธุรกิจมีความสมบูรณ์ ครอบคลุมธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมี สร้างโอกาสการเติบโตในประเทศอินโดนีเซีย ที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสูงมาก”นายวิรัตน์ กล่าว
นอกจากนี้ยังเป็นการการขยายความร่วมมือทางการค้าระหว่าง ไทยออยล์ กับ CAP โดยไทยออยล์ได้เข้าทำสัญญา เพื่อส่งผลิตภัณฑ์จากโรงกลั่นเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบให้กับ CAP เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และยังได้เข้าทำสัญญาเพื่อจำหน่ายพอลิเมอร์เรซิน (Polymer Resin) และผลิตภัณฑ์ในรูปของเหลวอื่นๆ ของ CAP อีกด้วย
อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ได้ตั้งเป้าหมายจะมีสัดส่วนจากส่วนแบ่งกำไรในปี 2573 มาจากธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน (ปิโตรเลียม) ราว 40%, ปิโตรเคมีและ Hight Value Product ราว 40%, ธุรกิจไฟฟ้า 10% และธุรกิจอื่นๆ อีก 10%
นายวิรัตน์ กล่าวว่า สำหรับกระบวนการชำระค่าหุ้น จะแบ่งการชำระเงินเป็นงวด โดยงวดแรก จะสามารถดำเนินการจ่ายเงินได้ในเดือนก.ย.64 จำนวน 913 ล้านเหรียญฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้นที่ 15% หลังจากนั้นจะรอให้มีการตัดสินใจการลงทุนการขยายกำลังการผลิตและก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีแห่งที่ 2 (CAP 2) ซึ่งคาดว่าจะสามารถตัดสินใจได้ในช่วงกลางปี 65 บริษัทฯ ก็จะมีการดำเนินการจ่ายเงินในงวดที่สอง อีก 270 ล้านเหรียญ เพื่อเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 15.38% โดยเงินลงทุนทั้งหมดของ TOP จะถูกนำไปพัฒนาและก่อสร้างโครงการ CAP 2
พร้อมกันนี้ภายหลังจากการจ่ายเงินงวดแรกในเดือนก.ย. ดังกล่าว จะส่งผลให้บริษัทฯ สามารถรับรู้กำไรเข้ามา คาดว่าจะมีการบันทึกส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนใน CAP ได้ในไตรมาส 4/64 เป็นต้นไป ซึ่งในช่วงเริ่มต้นคาดจะได้รับกำไรเข้ามาราว 40-50 ล้านเหรียญต่อปี (คำนวนจากกำไรในไตรมาส 1/64 ของ CAP ที่อยู่ราว 84 ล้านเหรียญ) ขณะที่หากมีการเดินเครื่องในโครงการ CAP 2 ในปี 2569 ก็จะส่งผลทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 2 เท่า และจะส่งผลดีต่อกำไรที่เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ตามไปด้วย โดย CAP 1 มีกำไรอยู่ที่ 165 ล้านเหรียญ หรือคิดเป็น 5,000 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา
ด้านแผนการจัดหาเงินทุน (Funding Plan) ลำดับแรก บริษัทฯ จะใช้เงินกู้ระยะสั้น (Bridging Loans) ระยะเวลาไม่เกิน 18 เดือน อัตราดอกเบี้ยเทียบเคียง กับตลาด (Marketrate) ไม่เกิน 2.5% ต่อปี เพื่อนำไปชำระค่าหุ้นก่อน โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงิน และบมจ.ปตท. (PTT) ประมาณ 48% ส่วนที่สองจะมาจากการขายหุ้นบมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ในจำนวนไม่เกิน 10.8% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ GPSC ให้แก่ PTT คาดจะได้รับเงินเข้ามาจำนวน 20,000 ล้านบาท และการเพิ่มทุนไม่เกิน 10,000 ล้านบาท อีกทั้งบริษัทฯ ยังสามารถออกหุ้นกู้หรือกู้เงินระยะยาวจากสถาบันการเงินได้ รวมถึงปัจจุบันบริษัทฯ ยังมีกระแสเงินสดในมือกว่า 1,000 ล้านเหรียญ
อย่างไรก็ตามกระบวนการเพิ่มทุนและการขายหุ้น GPSC คาดจะดำเนินการเสร็จสิ้นได้ภายในครึ่งปีแรกของปี 65 เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวต้องขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นก่อน โดยคาดว่ากระบวนการจะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนส.ค.เป็นต้นไป พร้อมยอมรับว่าการเพิ่มทุนของบริษัทในรอบนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นเดิมถูก Dilute ประมาณ 10%
ขณะที่มองว่าการซื้อหุ้น CAP ในครั้งนี้ได้ราคาที่ต่ำกว่าราคาในตลาดหุ้นอินโดนีเซียราว 20% เพราะเป็นหุ้นที่ออกใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมและบริษัทได้รับสิทธิเพิ่มทุนในราคาเดียวกับเอสซีจี เคมิคอลส์ ที่ซื้อหุ้นเพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นเอาไว้ รวมถึงบริษัทยังได้สิทธิในการขายผลิตภัณฑ์ให้แก่ CAP และยังสามารถส่งกรรมการเข้าไปนั่งในบอร์ดได้ 3 คน จากทั้งหมด 15 คน
นายวิรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ มีความสนใจที่จะเข้าไปถือหุ้นใน CAP เพิ่มเติม ซึ่งก็อยู่ระหว่างการเจรจากับ CAP ในการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนดังกล่าว หากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ก.ค. 64)
Tags: CAP, TOP, ธุรกิจปิโตรเคมี, ธุรกิจปิโตรเลียม, วิรัตน์ เอื้อนฤมิต, หุ้นไทย, อินโดนีเซีย, โอเลฟินส์, ไทยออยล์