ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รับหลักทรัพย์ บมจ. เอเอ็มอาร์ เอเซีย เข้าจดทะเบียนในตลาด SET กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเริ่มทำการซื้อขายในวันที 2 ส.ค. 64 ใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ AMR
นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยินดีต้อนรับ บมจ. เอเอ็มอาร์ เอเซีย เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “AMR” ในวันที่ 2 สิงหาคม 2564
AMR ให้บริการออกแบบระบบงานวิศวกรรมและเชื่อมต่อระบบไอทีโซลูชั่น (System Integration: SI) รวมถึงงานให้บริการดูแลรักษาและซ่อมบำรุง และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไอทีโซลูชั่นมายาวนานกว่า 20 ปี ด้วยความเชี่ยวชาญด้านระบบการเดินรถและขนส่งมวลชนสมัยใหม่ ในปี 2559 ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของ AMR ที่เป็นบริษัทสัญชาติไทยบริษัทแรกที่ได้ออกแบบติดตั้งและบริหารงานระบบรถไฟฟ้าทั้งหมดแบบเบ็ดเสร็จ (Turnkey Project) ให้กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง สถานีกรุงธนบุรี – สถานีคลองสาน ระยะที่ 1 และได้รับงานระบบเดินรถไฟฟ้าของโครงการขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง ณ 31 มีนาคม 2564 มีงานที่ยังไม่ได้ส่งมอบ (Backlog) ประมาณ 1,450 ล้านบาท ที่จะทยอยรับรู้รายได้ตามลำดับ และมีโอกาสเติบโตตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศของภาครัฐ และการขยายการลงทุนของภาคเอกชนในหลากหลายอุตสาหกรรม
AMR มีทุนชำระแล้ว 300 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 450 ล้านหุ้น และ หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) 150 ล้านหุ้น โดยเสนอขายให้แก่ผู้มีอุปการคุณของ ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์และบริษัท 80.20 ล้านหุ้น นักลงทุนสถาบัน 52 ล้านหุ้น และกรรมการ ผู้บริหาร พนักงานของบริษัท 17.80 ล้านหุ้น ในวันที่ 21-23 กรกฎาคม 2564 ราคาหุ้นละ 6.90 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 1,035 ล้านบาท โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 4,140 ล้านบาท มีบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย
นายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ AMR เปิดเผยว่า การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยให้บริษัทมีฐานทุนเพิ่มขึ้น เพิ่มศักยภาพในการรับงานโครงการขนาดใหญ่ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจในระบบขนส่งมวลชน (Intelligent Transportation) เมืองอัจฉริยะ (Smart City) เทคโนโลยีพลังงานสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle technology) และสาธารณูปโภคของเมือง เพื่อต่อยอดการเป็นผู้นำด้านงาน System Integration (SI) ระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และรองรับลูกค้าขนาดใหญ่ เพื่อสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้นในระยะยาว
AMR มีผู้ถือหุ้น 3 ลำดับแรกหลัง IPO ได้แก่ 1) กลุ่มนายอังสุรัสมิ์ อารีกุล ถือหุ้น 26.25% 2) นางสุชาดา มงคลดี ถือหุ้น 12.84% และ 3) กลุ่มครอบครัวศิริโก ถือหุ้น 8.63% การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO จะพิจารณาจากอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earning Ratio : P/E)
ทั้งนี้ ราคาที่เสนอขายคิดเป็นอัตราส่วน P/E เท่ากับ 15.33 เท่า เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิของบริษัทในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 ที่ 0.45 บาท/หุ้น ซึ่งคำนวณจากจำนวนหุ้นสามัญภายหลังการเสนอขายครั้งนี้ (Fully Diluted) ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิจากงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัท ภายหลังการหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและการจัดสรรทุนสำรองตามกฎหมาย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ก.ค. 64)
Tags: AMR, หุ้นไทย, เอเอ็มอาร์ เอเซีย, แมนพงศ์ เสนาณรงค์