CKP เผยปล่อยน้ำไหลผ่านโรงไฟฟ้าตามน้ำหลากไหลลงแม่น้ำโขงเพิ่มจากผลพายุเจิมปากกา

นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีเค พาวเวอร์ (CKP) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลพายุโซนร้อน “เจิมปากา” ซึ่งขณะนี้ได้อ่อนกำลังเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ยที่ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ประกอบกับเขื่อนน้ำอู มีการระบายน้ำออกจากเขื่อนตามที่ทางเขื่อนน้ำอูได้ประกาศแจ้งเตือนมาก่อนหน้านี้

ในช่วงวันที่ 25 ก.ค.64 ที่ผ่านมา ได้เริ่มมีปริมาณน้ำไหลเข้าและผ่านโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี จำนวน 8,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งเป็นปริมาณน้ำไหลผ่านโรงไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงวันที่ 1-24 ก.ค.64 ที่มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ย 3,588 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่คาดการณ์ว่าในวันที่ 27 ก.ค.นี้จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านโรงไฟฟ้าประมาณ 7,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และทยอยลดลงเรื่อยๆ เป็น 6,400 และ 5,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีในวันที่ 28 และ 29 ก.ค.64 ตามลำดับ

“อย่างไรก็ตามโรงไฟฟ้าได้บริหารจัดการโดยการปล่อยน้ำผ่านโรงไฟฟ้าตามปริมาณน้ำจริงที่ไหลเข้าโรงไฟฟ้าตามธรรมชาติออกสู่ท้ายน้ำ เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีไม่ใช่เขื่อนประเภทกักเก็บน้ำ ไม่มีความสามารถในการกักเก็บน้ำและไม่มีอ่างเก็บน้ำ แต่เป็นโรงไฟฟ้าแบบน้ำไหลผ่าน หรือ Run-of-River กล่าวคือ ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าโรงไฟฟ้าจะเท่ากับปริมาณน้ำที่ไหลออกจากโรงไฟฟ้าเสมอโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงการไหลตามธรรมชาติของแม่น้ำโขง” นายธนวัฒน์ กล่าว

จากข้อมูลค่าเฉลี่ยรายเดือนปริมาณน้ำ ที่ไหลผ่านโรงไฟฟ้าย้อนหลัง 80 ปี ตั้งแต่ก่อนมีโรงไฟฟ้า (พ.ศ.2483-2563) พบว่า ปริมาณน้ำปัจจุบันยังคงอยู่ในกรอบสถิติปริมาณน้ำสูงสุดและต่ำสุด ทั้งนี้แต่ละปีจะมีปริมาณน้ำต่างกัน มีทั้งปีน้ำน้อยหรือปีน้ำมาก และคาดว่าปีนี้จะใกล้เคียงกับช่วงปี 61 คือเป็นปีที่มีปริมาณน้ำค่อนข้างมากและเกิดขึ้นตามฤดูกาล

บริษัทฯ ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่างๆ 3 ประเภท จำนวน 13 แห่ง รวมขนาดกำลังการผลิตติดตั้งที่ 2,167 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2 แห่ง ภายใต้ บริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 46% (ถือผ่าน บริษัท เซาท์อีสท์ เอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ และบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 42.5% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์

โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม จำนวน 2 แห่ง ภายใต้ บริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นอยู่ 65% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 238 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 9 แห่ง ภายใต้ บริษัท บางเขนชัย จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 100% จำนวน 7 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 15 เมกะวัตต์ ภายใต้ บริษัท เชียงราย โซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 30% จำนวน 1 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์ และภายใต้บริษัท นครราชสีมา โซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 30% จำนวน 1 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 6 เมกะวัตต์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top