เงินบาทเปิด 32.86 แข็งค่าตามทิศทางตลาดโลก หลังดอลลาร์อ่อนค่าตลาดรอผลประชุมเฟด

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 32.86 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าจากปิดตลาดเมื่อเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 32.92 บาท/ดอลลาร์ ตามทิศทางตลาดโลกหลังดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินหลัก โดยตลาดรอดูผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวัน 28 ก.ค.64

ส่วนปัจจัยในประเทศยังคงจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และผลจากการออกมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

“บาทแข็งค่าจากท้ายตลาดวันศุกร์ตามทิศทางตลาดโลก เนื่องจากดอลลาร์ย่อตัวลง ตลาดเพิ่มความระมัดระวังรอดูผลประชุมเฟดค่ำวันพรุ่งนี้ว่าจะส่งสัญญาณอย่างไร”

นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน คาดว่าวันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.80-32.95 บาท/ดอลลาร์

THAI BAHT FIX 3M (23 ก.ค.) อยู่ที่ระดับ 0.26332% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.28128%

ปัจจัยสำคัญ

  • เงินเยนอยู่ที่ 110.22 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 110.45 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ 1.1806 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 1.1767 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 32.922 บาท/ดอลลาร์
  • รมว.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้รับทราบข้อเสนอของ 40 ซีอีโอที่ได้เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้เพิ่มเงินโครงการคนละครึ่ง และนำโครงการช้อปดีมีคืนกลับมาแล้ว แต่กระทรวงการคลัง ขอเวลาพิจารณารายละเอียดก่อน ยังไม่มีการเพิ่มในตอนนี้ ขณะเดียวกันต้องรอผลการดำเนินงานจากโครงการคนละครึ่ง ยิ่งใช้ยิ่งได้ และการเพิ่มกำลังซื้อในกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐด้วยเพิ่งเป็นโครงการที่เพิ่งเปิดไปเมื่อวันที่ 1 ก.ค.64
  • “สุพัฒน์พงษ์” นัดถกบอร์ดอีวีแห่งชาติสัปดาห์นี้ เร่งแผนดันไทยเป็นฐานการผลิตและการสร้างแรงจูงใจในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในไทย “สรรพามิต” เร่งคลอดมาตรการภาษีหนุนอีวีภายในปี 64 ยืนยันไม่กระทบรถกระบะ
  • ศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์การส่งออก ยังต้องจับตาการผลิตและส่งออกในระยะต่อไป หลังไทยต้องประสบปัญหาการระบาดคลัสเตอร์โรงงานในหลายพื้นที่และแพร่กระจายไปหลากหลายประเภทอุตสาหกรรม ซึ่งกระทบต่อการผลิตและการส่งมอบสินค้า และต่อเนื่องไปยังส่วนอื่นๆ โดยยังต้องติดตามการส่งออกไปยังฝั่งอาเซียนหลังโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ระบาดอย่างรุนแรงและยากต่อการควบคุม ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องถึงการส่งออกสินค้าของไทยที่มีส่วนแบ่งมูลค่าตลาดในกลุ่มอาเซียน 9 ประเทศสูงถึง 1 ใน 4 ของมูลค่าการส่งออกไปตลาดโลกปี 62
  • ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.ยังคงติดตามสถานการณ์ท่องเที่ยวในปี 64 อย่างใกล้ชิด และยังมีความกังวล หากสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ยังคงระบาดหนัก และถ้าไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ให้จบลงโดยเร็ว จนต้องตัดสินใจขยายเวลาการล็อกดาวน์ยาวถึง 3 เดือน จะส่งผล กระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยต้องเผชิญกับจุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ มีรายได้รวมจากการท่องเที่ยวทั้งปีเพียง 3.5-4.05 แสนล้านบาท ลดลง 50-56% จากปีก่อนหน้าที่มีรายได้ 8.15 แสนล้านบาท
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ได้ประเมินธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะประชุมกันวันที่ 27-28 ก.ค.นี้ จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.0-0.25% ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อไทย หากเฟดส่งสัญญาณถอนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเร็วกว่าตลาดคาดส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยและต้นทุนการกู้ยืมนั้นปรับสูงขึ้นตามไปด้วย
  • สกุลเงินยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (26 ก.ค.) ขานรับรายงานที่ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคผลิตและภาคบริการขยายตัวรวดเร็วสุดในรอบกว่า 20 ปี ขณะที่ดอลลาร์อ่อนค่าลงก่อนที่ตลาดจะรู้ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันพุธที่ 28 ก.ค.นี้ตามเวลาสหรัฐ
  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงหลุดจากระดับ 1,800 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (26 ก.ค.) เนื่องจากนักลงทุนชะลอการซื้อขายก่อนที่จะรู้ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันพุธที่ 28 ก.ค.ตามเวลาสหรัฐ
  • นักลงทุนจับตาการแถลงผลการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันพุธที่ 28 ก.ค.ตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดีที่ 29 ก.ค.ตามเวลาไทย และจากนั้นจะเป็นการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด
  • ข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมิ.ย., ราคาบ้านเดือน พ.ค.จากเอสแอนด์พี/เคส-ชิลเลอร์, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ค.จาก Conference Board, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนมิ.ย., รายได้และการใช้จ่ายส่วนบุคคลเดือนมิ.ย., ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนมิ.ย., ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ค. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ค. 64)

Tags: , ,
Back to Top