นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข มีความห่วงใยผู้ป่วยโควิด-19 ต้องการให้ทุกคนได้เข้าสู่ระบบการรักษา โดยกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อยได้รับการดูแลที่บ้านหรือในชุมชน ติดตามดูแลโดยทีมปฏิบัติการเชิงรุก Comprehensive COVID-19 Response Team (CCR Team)
สำหรับการดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและกลุ่มสีแดงที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น กระทรวงสาธารณสุขได้ให้โรงพยาบาลบุษราคัมร่วมดูแล ขณะนี้รับผู้ป่วยรายใหม่วันละ 300 กว่าราย ยอดผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ 14 พฤษภาคม – 17 กรกฎาคม 2564 จำนวน 9,435 ราย ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นถึง 2,622 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วย ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2564 มีจำนวนสะสม 12,057 ราย ขณะนี้มีผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาล 3,610 ราย กลับบ้านไปแล้ว 8,000 กว่าราย
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์การระบาดต่อเนื่องและรุนแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำให้ขณะนี้สัดส่วนของผู้ป่วยที่มีอาการหนักในโรงพยาบาลบุษราคัมมีจำนวนมากขึ้น ที่ประชุม EOC กระทรวงสาธารณสุขได้เห็นชอบให้พัฒนาพื้นที่รองรับผู้ป่วยวิกฤติสีแดงเข้มเพิ่มจำนวน 17 เตียง และได้จัดงบประมาณในการจัดหาเครื่องช่วยหายใจไฮไฟลว์ และอุปกรณ์การแพทย์ที่สำคัญอื่นๆ เพิ่มเติม รวมทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้รับการสนับสนุนเครื่องช่วยหายใจไฮโฟลว์เพิ่มอีก 45 เครื่อง เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยซึ่งขณะนี้ที่จำเป็นต้องใช้ออกซิเจน 700 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยใจไฮโฟลว์ 200 ราย ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากช่วงที่ผ่านมา โดยจนถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 มีผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจไฮโฟลว์ 158 ราย, ช่วงวันที่ 18 – 22 กรกฎาคม 2564 มีจำนวน 164 ราย
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ได้ระดมกำลังคนเพิ่มจากส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย แพทย์และเภสัชกร เขตสุขภาพละ 3 คน พยาบาลจังหวัดละ 3 คน และส่วนกลางสนับสนุนเจ้าหน้าที่ back office วันละ 20 คน เพื่อเป็นกำลังเสริมการทำงานให้ทุกหน่วยงาน รวมทั้งเพื่อเป็นขวัญกำลังใจบุคลากรที่มีภาระงานหนักมากในเดือนกรกฎาคม โรงพยาบาลบุษราคัมได้เสนอปรับค่าตอบแทนสำหรับผู้ปฏิบัติงานเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการขออนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ก.ค. 64)
Tags: COVID-19, lifestyle, เกียรติภูมิ วงศ์รจิต, โควิด-19, โรงพยาบาลบุษราคัม, โรงพยาบาลสนาม