น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 20 ก.ค. 64 และที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) วันที่ 22 ก.ค. 64 มีแนวนโยบายให้ฝ่ายแพทย์พิจารณาผ่อนคลายมาตรการสำหรับร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าให้สามารถเปิดขายออนไลน์ได้นั้น ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขได้พิจารณามาตรการจำหน่ายอาหารออนไลน์สำหรับร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าแล้ว ซึ่งหลังจากนี้ จะได้นำเสนอให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) พิจารณาอนุญาตต่อไป
ทั้งนี้ การให้มีแนวทางที่จะผ่อนคลายให้ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าสามารถเปิดขายออนไลน์ได้นี้ เนื่องมาจากรัฐบาลได้รับทราบถึงความเดือดร้อนของทั้งผู้ประกอบการและประชาชน จากการเพิ่มความเข้มงวดมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) ที่เริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. 64 เป็นต้นมา ซึ่งการผ่อนคลายครั้งนี้ ยังคงต้องอยู่ภายใต้มาตรการที่เข้มงวด และต้องการความร่วมมือจากทั้งผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการรับส่งสินค้า และประชาชน
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าแนวทางปฏิบัติเบื้องต้นที่จะผ่อนคลายให้กับร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า มีดังนี้
1. ผู้ประกอบการ จัดทำมาตรการ DMHT สำหรับพนักงานทุกคน (สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ไม่รวมกลุ่ม และไม่รับประทานอาหารร่วมกัน) เดินทางมาทำงานแบบอยู่ในเส้นทางหรือพื้นที่ที่กำหนด (sealed route) ห้ามเปิดหน้าร้าน กรณีมีอาการทางเดินหายใจ เป็นผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อ ต้องหยุดทำงาน
2. ห้างสรรพสินค้า จัดจุดรอรับอาหาร โดยเน้นมาตรการเว้นระยะห่าง ทุกคนสวมหน้ากากอนามัย ไม่รวมกลุ่มกัน จุดรอเป็นสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่พลุกพล่าน และมีระบบ DMHTA คือการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก จัดเจลล้างมือ ตรวจวัดอุณหภูมิใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ/หมอชนะ
3. พนักงานรับส่งอาหารแบบออนไลน์ เน้นย้ำมาตรการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เว้นระยะห่างผู้อื่น พกเจลแอลกอฮอล์,กรณีมีอาการทางเดินหายใจ เป็นผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อ ต้องหยุดทำงาน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ก.ค. 64)
Tags: มาตรการผ่อนคลาย, ร้านอาหาร, ศบค., ไตรศุลี ไตรสรณกุล