สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี “ข่าวสารในช่วงวิกฤติโควิด-19” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,619 คน ระหว่างวันที่ 19-22 กรกฎาคม 2564 พบว่า ประชาชนสนใจข่าวประสิทธิภาพของวัคซีนและอาการข้างเคียงมากที่สุด ร้อยละ 72.41 เลือกเชื่อถือข้อมูลจากแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ร้อยละ 65.30 ข้อมูลข่าวสารทำให้รู้สึกสับสนมาก ร้อยละ 43.99 โดยสับสนข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาล การจองและเลื่อนฉีดวัคซีนมากที่สุด ร้อยละ 74.61 เมื่อได้รับข้อมูลข่าวสารจะดูแลตัวเองมากขึ้น ร้อยละ 90.78 และภาพรวมเมื่อรับรู้ข้อมูลข่าวสารแล้วรู้สึกวิตกกังวลมากจนเริ่มรบกวนชีวิตประจำวัน ร้อยละ 36.34
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.ชนะศึก นิชานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้มีนโยบายบริหารจัดการวัคซีนที่เป็นสูตรผสมระหว่าง Sinovac เข็มที่ 1 กับ AstraZeneca เข็มที่ 2 รวมถึงได้ออกมาตรการควบคุมสูงสุดในจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดสูง จากผลการสำรวจประชาชนจึงให้ความสนใจเกี่ยวกับวัคซีนและมาตรการของภาครัฐ โดยพบว่าประชาชนสับสนกับข้อมูลข่าวสารในช่วงนี้จนทำให้มีความรู้สึกวิตกกังวล เมื่อรัฐบาลบริหารงานแบบรวมอำนาจที่นายกรัฐมนตรี การให้ข่าวสารก็ควรมาจากคณะกรรมการ ชุดใหญ่เพียงเท่านั้น โดยมีกรมสุขภาพจิตเข้ามามีบทบาทช่วยในการรับมือภาวะความเครียดและการวิตกกังวลของประชาชน มิเช่นนั้นอาจมีปัญหาด้านสุขภาพจิตและส่งผลถึงการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นตามมา
เมื่อได้รับข้อมูลข่าวสารแล้วประชาชนต้องดูแลตัวเองมากขึ้น ยิ่งตอกย้ำถึงความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อการบริหารจัดการของภาครัฐ ดังนั้นรัฐบาลจึงควรมีมาตรฐานในการสื่อสารให้ประชาชนเชื่อมั่นว่ามีระบบที่พร้อมดูแลช่วยเหลือในช่วงวิกฤติโรคระบาดในครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์เองก็ต้องเข้ามามีบทบาทและเอาจริงเอาจังกับการควบคุมราคาสินค้า เพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมประชาชนในช่วงสภาวะวิกฤติในปัจจุบัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.ค. 64)
Tags: ผลสำรวจ, สวนดุสิตโพล, โพลล์