นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือน มิ.ย.64 โดยการส่งออกมีมูลค่า 23,699.43 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 43.82% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการการขยายตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี จากสินค้าเกษตรที่มีอัตราการขยายตัวสูง
อย่างไรก็ตาม เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องน้ำมัน ทองคำ และอาวุธแล้ว การส่งออกขยายตัว 41.56% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สะท้อนการเติบโตที่ฟื้นตัวจากภาคเศรษฐกิจจริง
ด้านการนำเข้ามีมูลค่า 22,754.37 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 53.75% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 945.06 ล้านดอลลาร์
สำหรับภาพรวมในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.64) การส่งออกมีมูลค่า 132,334.65 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 15.53% การนำเข้า มีมูลค่า 129,895.50 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 26.15% ส่งผลให้ช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ไทยเกินดุลการค้า 2,439.15 ล้านดอลลาร์
“มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนมิ.ย. 64 เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี โดยกลุ่มสินค้าเกษตร ขยายตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี ที่ 59.8% และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 9 ขณะที่ตลาดหลักในการส่งออกสินค้าของไทยเติบโตได้ดีในทุกตลาด”
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กล่าว
นายจุรินทร์ กล่าวว่า การส่งออกที่ขยายตัวดีในเดือนมิ.ย.นี้ ได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของภาคการผลิตในทั่วโลก สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตทั่วโลก ที่อยู่เหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 โดยเฉพาะในประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐ และยุโรป ขณะเดียวกันภาวะเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าก็เป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทย นอกจากนี้ การส่งออกที่เติบโตดียังเป็นผลมาจากการดำเนินการตามแผนส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์อย่างต่อเนื่องด้วย
พร้อมระบุว่า สินค้าส่งออกของไทยที่มีอัตราการขยายตัวสูงมาก 5 อันดับแรกในเดือนมิ.ย. ประกอบด้วย อันดับ 1 สินค้าผลไม้ ขยายตัวถึง 185.10% โดยในส่วนของสินค้าผลไม้ พบว่ามูลค่าการส่งออกทุเรียน ขยายตัวถึง 172% และมังคุด ขยายตัวถึง 488% ส่วนอันดับ 2 สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ขยายตัว 90.48% อันดับ 3 สินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และชิ้นส่วน ขยายตัว 78.5% อันดับ 4 สินค้าเครื่องจักรกล ขยายตัว 73.13% และอันดับ 5 สินค้าเคมีภัณฑ์ ขยายตัว 59.82%
ส่วนการส่งออกไปยังตลาดต่างๆ พบว่ามีการขยายตัวดีทุกตลาด สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ตามการกลับมาเปิดประเทศของประเทศคู่ค้าสำคัญ หลังมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยตลาดหลัก ขยายตัว 41.2% ตลาดรอง ขยายตัว 49.5% และตลาดอื่นๆ ขยายตัว 81.6%
สำหรับแผนงานในครึ่งปีหลังนี้ ประกอบด้วย
1.กระทรวงพาณิชย์จะจับมือกับภาคเอกชนเดินหน้าทำงานร่วมกันแก้ไขปัญหาอุปสรรคในรูป กรอ.พาณิชย์ และใช้ทั้งทีมเซลล์แมนจังหวัด และทีมเซลล์แมนประเทศ เป็นแม่ทัพร่วมกับภาคเอกชนในการเดินหน้าการส่งออก ซึ่งขณะนี้ได้มีการเตรียมกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมการส่งออกมากกว่า 130 กิจกรรมในครึ่งปีหลัง ซึ่งมีการทำยอดขายสั่งจองล่วงหน้าแล้วไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท
2.เร่งเปิดตลาดใหม่ที่เป็นรูปธรรม เช่น ตลาดซาอุดิอาระเบีย ซึ่งโอกาสที่ประเทศไทยจะสามารถส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งไปยังตลาดซาอุดิอาระเบียมีความเป็นไปได้มาก โดยสั่งการให้ทูตพาณิชย์ที่รับผิดชอบได้ติดตามรายงานทุกสัปดาห์ นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์จะจับมือกับภาคเอกชนในการบุกตลาดลาตินอเมริกา โดยสินค้าที่มีโอกาสเกิดได้ เช่น สินค้า New Normal ทั้งอาหารเกี่ยวกับสุขภาพ อาหารรูปแบบใหม่ อาหารกระป๋อง เป็นต้น
นายจุรินทร์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ จะร่วมกับภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาที่จะเป็นอุปสรรคต่อภาคการส่งออก โดยเฉพาะกรณีการสั่งปิดโรงงานการผลิตแบบเหมารวม ซึ่งจำเป็นต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะพื้นที่ใดที่ไม่มีปัญหาก็ควรพิจารณาให้เปิดโรงงานได้ต่อไป เพื่อไม่ให้กระทบต่อการผลิตและการส่งออกในช่วงถัดจากนี้ คือ ก.ค. และ ส.ค.
“จะเข้าไปช่วยในภาคการผลิตเพื่อให้คงตัวเลขส่งออก หรือให้มีสินค้าในการสนองความต้องการตลาดโลกได้ต่อไป ปัญหาภาคการผลิตในช่วงเดือนกรกฎาคม เช่น บางจังหวัดสั่งปิดโรงงานแบบเหมารวม จะต้องมีการพิจารณาให้รอบคอบ ส่วนไหนที่มีปัญหาก็ปิดโซนนั้น โซนไหนที่ไม่มีปัญหาควรให้เปิดดำเนินการต่อไปได้ หรือถ้ามีการปิดทั้งโรงงาน แต่ส่วนไหนที่แก้ไขปัญหาจบแล้วก็ควรจะเปิดให้ดำเนินการผลิตต่อไป เพื่อไม่ให้ภาคการผลิตหยุดชะงักและกระทบกับการส่งออก ซึ่งจะนำเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้าต่อไป”
นายจุรินทร์ กล่าว
ส่วนกรณีที่ภาคเอกชนเรียกร้องให้มีแรงงานเข้าสู่ระบบมากขึ้นนั้น กระทรวงพาณิชย์ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงแรงงานในการเร่งรัดขึ้นทะเบียนแรงงานที่หมดอายุ โดยตนขอให้กระทรวงแรงงานจัดศูนย์ One Stop Service เพื่อรับขึ้นทะเบียนแรงงานหมดอายุในจุดต่างๆ เพื่อความรวดเร็วที่จะได้มีแรงงานกลับมาสู่ภาคการผลิตได้ต่อไป
พร้อมกันนี้ ยังเห็นว่าต้องเร่งกระจายวัคซีนป้องกันโควิดเข้าสู่แรงงานภาคการผลิต โดยเฉพาะโรงงานที่ผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งตนได้หารือกับที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไปแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้พิจารณาเรื่องนี้ต่อไป เพื่อไม่ให้กระทบภาคการผลิตที่จะส่งผลต่อตัวเลขการส่งออกในเดือนก.ค. และ ส.ค.
รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลังว่า ยังมีแนวโน้มการขยายตัวที่ดี สะท้อนจากก 1.การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 แสดงให้เห็นการกลับมาฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 2.ราคาพลังงานปรับสูงขึ้นตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น หลังจากหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน 3.การกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในแต่ละประเทศ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาอีกครั้ง
นายจุรินทร์ ยังมั่นใจว่าการส่งออกทั้งปี 64 นี้จะทำได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เดิมที่ 4% เนื่องจากเห็นได้จากการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีแรก สามารถขยายตัวได้แล้วถึง 15.53% เกินเป้าหมายที่กำหนดไว้แล้ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.ค. 64)
Tags: กระทรวงพาณิชย์, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, ส่งออก, สินค้าเกษตร