ธปท.ประเมินล็อกดาวน์ล่าสุดทำกิจกรรมศก.หายไป 0.8-2.0% ของ GDP

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Media Briefing เรื่อง “ส่องเศรษฐกิจไทยในวิกฤตโควิด”ว่า จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ทำให้รัฐบาลต้องมีมาตรการออกมาควบคุมการแพร่ระบาดนั้น ได้ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยธปท.ประเมินว่าจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในปี 64 นี้ หายไป 0.8-2.0% ของจีดีพี

อย่างไรก็ดี ผลกระทบดังกล่าวคงไม่สามารถนำไปหักออกจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีนี้ได้ในทันที เนื่องจากต้องรอติดตามปัจจัยอื่นๆ ที่อาจจะเข้ามาเป็นตัวสนับสนุนจีดีพีในปีนี้ด้วย เช่น มาตรการการคลัง การส่งออก หรือปัจจัยอื่นๆ

“เศรษฐกิจไทยอาจจะต้องใช้เวลามากขึ้นในการที่จะกลับมาฟื้นตัว ต้องขึ้นกับเครื่องยนต์ตัวอื่นๆ ด้วยว่าจะกลับมาทันหรือไม่…เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยง และมากขึ้นจากเดิมที่ได้เคยประเมินไว้เมื่อเดือนมิ.ย. เพราะผลกระทบทางเศรษฐกิจมีมากขึ้นกว่าที่คาดไว้” น.ส.ชญาวดีระบุ

ก่อนหน้านี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อเดือนมิ.ย. 64 มีการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ จะเติบโตได้ 1.8%

น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า ข้อมูลที่ ธปท.รวบรวมได้ล่าสุดจนถึงวันที่ 19 ก.ค. 64 สถานการณ์มีความเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมากจากเดือนมิ.ย. โดยเฉพาะการระบาดของไวรัสโควิดจากสายพันธุ์เดลตา ซึ่งกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทย ที่ส่งผลให้มีการระบาดที่รุนแรงแรงและรวดเร็ว จนทำให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นมาก และขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ ซึ่งย่อมจะมีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโควิดที่ใช้อยู่ในปัจจุบันด้วย

“ผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ต้องดูว่าการระบาดจะยืดเยื้อไปแค่ไหน รวมถึงมาตรการที่จะมาควบคุมการระบาด คือมาตรการล็อกดาวน์จะยืดเยื้อแค่ไหน เพราะจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสะดุดลง รวมทั้งการได้รับวัคซีนที่จะทำให้มีภูมิคุ้มกันหมู่เร็วขึ้นมากน้อยแค่ไหน รวมถึงวัคซีนส่งผลต่อการควบคุมการแพร่เชื้อของไวรัสสายพันธุ์นี้มากน้อยแค่ไหนด้วย”

น.ส.ชญาวดีกล่าว

พร้อมมองว่า ในระยะสั้นประสิทธิผลของมาตรการล็อกดาวน์จะเป็นตัวกำหนดแนวโน้มการระบาดในประเทศ ทั้งนี้ ธปท.มองว่ายังมีความไม่แน่นอนสูงว่าจะต้องใช้มาตรการควบคุมการระบาดในระดับเข้มงวดเพียงใด เพราะต้องขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของมาตรการ และแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่

อย่างไรก็ดี ธปท.ประเมินไว้ใน 2 กรณี คือ กรณีแรก หากประสิทธิภาพของมาตรการล็อกดาวน์ สามารถควบคุมการระบาดให้ลดลงจากปัจจุบันได้ถึง 40% ซึ่งมีผลทำให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงในระดับที่ขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขมีเพียงพอรองรับได้ ก็คาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ จะเริ่มกลับมาได้ในช่วงเดือน ส.ค. ส่วนกรณีที่สอง หากประสิทธิภาพของมาตรการล็อกดาวน์ สามารถควบคุมการระบาดให้ลดลงได้เพียง 20% ก็เชื่อว่าการใช้มาตรการล็อกดาวน์จะยังยืดเยื้อต่อไปตลอดในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไม่สามารถกลับมาได้ รวมถึงความเชื่อมั่นของประชาชนที่จะยังไม่กลับมาด้วยเช่นกัน

น.ส.ชญาวดี ยังมองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 65 อาจมีความล่าช้ากว่าที่คาดไว้มาก เพราะขึ้นกับนโยบายการกระจายวัคซีนเป็นสำคัญ ซึ่งปัจจัยที่สำคัญที่จะได้รับผลกระทบตามมาหากมีการกระจายวัคซีนล่าช้ากว่ากำหนด คือ ทำให้ประเทศไทยต้องเลื่อนเวลาการลดวันกักตัวออกไป ซึ่งช้าสุดอาจเป็นไตรมาส 3 ปี 65 ขณะที่เร็วสุดคือ ไตรมาส 2 ปี 65 นอกจากนี้ ยังส่งผลให้การเปิดเที่ยวบินพาณิชย์อาจต้องล่าช้าไปกว่าปี 65 และการกลับมาของภาคการท่องเที่ยวที่อาจจะล่าช้าออกไปจากปี 65 เช่นกัน ขณะที่เร็วสุดจะอยู่ในช่วงไตรมาส 4 ปี 65 รวมถึงการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ที่อาจจะล่าช้ากว่าคาดและคงไม่เกิดภายในปี 65 ซึ่งมีสาเหตุมาจากการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทั้งประเทศทำได้ยาก, เกิดปัญหาไวรัสกลายพันธุ์ และประชาชนอาจการ์ดตกหลังได้รับวัคซีน

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในปี 65 คือ 1.สถานการณ์และการควบคุมการระบาดในระยะยาว 2.นโยบายการเปิดประเทศของต่างชาติ 3.นโยบายการคลังและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 4.ฐานะการเงินและสภาพคล่องของธุรกิจ 5.ปัญหาการขาดแคลนชิป และตู้คอนเทนเนอร์

น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า นโยบายการคลังจะเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญในยามที่เครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวอื่นอ่อนแรง โดยมองว่ามาตรการทางการคลังมีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป รวมถึงการประสานนโยบายทั้งด้านการเงินการคลังที่จะต้องทำร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จะเห็นได้จากในปี 63 ที่นโยบายการคลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะการระบาดของไวรัสโควิดในปีที่ผ่านมา ทำให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจทุกตัวดับลง มีเพียงการใช้จ่ายของภาครัฐเท่านั้นที่ช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยไม่ให้หดตัวรุนแรง

ในขณะที่มาตรการทางการเงิน เป็นการเสริมความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องหรือบรรเทาภาระหนี้ชั่วคราว ซึ่งอาจได้ผลจำกัด รวมทั้งไม่สามารถช่วยเหลือได้ครบทุกกลุ่ม เพราะปัญหาสำคัญอยู่ที่การขาดรายได้ อย่างไรก็ดี เมื่อมองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยยังต้องการแรงกระตุ้นอีกมาก เพราะการฟื้นตัวของแต่ภาคส่วนยังไม่เท่าเทียมและมีขีดจำกัดของมาตรการทางการเงิน ดังนั้น มาตรการทางการคลังจึงเป็นทางเลือกที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย

สำหรับประเด็นที่ต้องจับตาในระยะต่อไปนั้น ในระยะสั้น ต้องติดตามความพร้อมด้านสาธารณสุข ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงภาคการผลิตที่อาจได้รับผลกระทบในระยะสั้นจากมาตรการควบคุมการระบาด ขณะที่กำลังซื้อที่อ่อนแอลงจะมีผลกระทบต่อยอดขายในระยะต่อไป ส่วนในระยะยาวควรเร่งกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง แทนมาตรการควบคุมที่เข้มงวดซึ่งอาจมีความจำเป็นในระยะสั้น แต่ไม่ตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจ รวมทั้งต้องจำกัดให้มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวให้น้อยที่สุด เพราะหากโครงการนำร่องเช่น ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ถูกกระทบ จะยิ่งส่งผลต่อการฟื้นตัวในระยะยาว

ทั้งนี้ ธปท.มีข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย ดังนี้

1.ต้องเตรียมเครื่องมือและมาตรการให้เพียงพอและยาวนาน เนื่องจากการระบาดระลอกล่าสุด มีแนวโน้มจะยาวนานและกระทบเป็นวงกว้างกว่าระลอกก่อน และต้องทำเต็มที่ทั้งด้านนโยบายการเงินและการคลัง เนื่องจากมาตรการแต่ละด้านมีข้อจำกัด

2.ต้องคำนึงถึงการใช้จริงในสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น การเตรียมช่องทางให้ความช่วยเหลือประชาชนผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อลดการให้ประชาชนต้องออกมารับบริการความช่วยเหลือนอกบ้าน ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการแพร่ระบาดได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top