นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ประชุมติดตามการเตรียมการส่งผู้ป่วยโควิด-19 กลับภูมิลำเนา ในพื้นที่ 6 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (บุรีรัมย์ ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ) เพื่อดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี โดยที่ประชุมได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานเป็นลักษณะของการช่วยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งทำหน้าที่เป็นแกนหลักประสานระหว่างผู้ป่วยกับหน่วยงานของรัฐในการจัดส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา ผ่านเบอร์โทรศัพท์ 1330 รวมทั้งมาตรการในการนำส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนาของกระทรวงสาธารณสุข
ส่วนความพร้อมของ 6 จังหวัดในการรองผู้ป่วยโควิด-19 กลับภูมิลำเนา เช่น การจัดตั้ง Community Isolation (CI) โครงการที่จังหวัดดำเนินการ อาทิ โครงการอุ้มลูกหลานเซราะกราวกลับบ้าน ของ จ.บุรีรัมย์, โครงการคนอุบลไม่ทิ้งกันของ จ. อุบลราชธานี โดยมีปริมาณเตียงรองรับผู้ป่วยของทั้ง 6 จังหวัด ซึ่งขณะนี้มี 5,876 เตียง และสามารถรองรับผู้ป่วยที่มีภูมิลำเนาพร้อมเดินทางแต่ละจังหวัด ณ วันที่ 21 ก.ค. 64 กลับไปรักษาที่จังหวัดบ้านเกิด รวม 6 จังหวัด แล้ว 4,464 เตียง คงเหลือ 1,412 เตียง แบ่งเป็น
- จ. บุรีรัมย์ มีจำนวนเตียงทั้งหมด 1,084 เตียง ใช้แล้ว 1,007 เตียง คงเหลือ 77 เตียง
- จ. ยโสธร มีจำนวนเตียงทั้งหมด 989 เตียง ใช้แล้ว 750 เตียง คงเหลือ 239 เตียง
- จ.สุรินทร์ มีจำนวนเตียงทั้งหมด 324 เตียง ใช้แล้ว 191 เตียง คงเหลือ 133 เตียง
- จ.อำนาจเจริญ มีจำนวนเตียงทั้งหมด 229 เตียง ใช้แล้ว 204 เตียง คงเหลือ 25 เตียง
- จ.อุบลราชธานี มีจำนวนเตียงทั้งหมด 1,297 เตียง ใช้แล้ว 1,164 เตียง คงเหลือ 133 เตียง
- จ.ศรีสะเกษ มีจำนวนเตียงทั้งหมด 1,953 เตียง ใช้แล้ว 1,148 เตียง คงเหลือ 805 เตียง
นอกจากนี้ คณะกรรมการอำนวยการศูนย์บริหารจัดการเพื่อนำผู้ป่วยโควิด-19 ส่งรักษาอาการในจังหวัดภูมิลำเนา 6 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธานกรรมการอำนวยการ มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการประสานสั่งการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้องในการอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้าย การเดินทางของผู้ป่วยกลับไปรักษาอาการในจังหวัดภูมิลำเนา รวมทั้งประสานจังหวัดในพื้นที่ภูมิลำเนา 6 จังหวัด เพื่อส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล โรงพยาบาล หน่วยบริการรักษาอาการ
รมว.คมนาคม กล่าวว่า ได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานด้านคมนาคมที่ดูแลด้านการขนส่งคน ดำเนินการตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด อาทิ การเว้นระยะห่างภายในรถ การทำความสะอาด รวมทั้งการจัดเตรียมอาหารและเครื่องดื่มให้กับผู้ป่วยระหว่างเดินทาง และขอให้จังหวัดดำเนินการวางแผนการรองรับผู้ป่วยกลับบ้าน โดยให้มีการคาดการณ์ถึงสถานการณ์ในอนาคต เพื่อดำเนินการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าด้วย
ส่วนกรณีที่จังหวัด หรือหน่วยงานใด ต้องการการสนับสนุนหรือขอความอนุเคราะห์จากกระทรวงคมนาคม สามารถติดต่อสื่อสารผ่านกลุ่มไลน์ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันต่อสถานการณ์
“หากมีผู้ประสงค์จะขอรับบริการ “จัดส่งผู้ป่วย Covid-19 กลับไปรักษาที่บ้านเกิด” สามารถโทรประสานงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยกระทรวงคมนาคม พร้อมร่วมในการดำเนินการจัดส่งผู้ป่วยด้วยทรัพยากรของกระทรวงคมนาคมทุกด้าน พร้อมดูแลตั้งแต่การเดินทาง อาหาร และประสานดำเนินงาน เพื่อให้ผู้ป่วยถึงยังสถานพยาบาลในจังหวัดภูมิลำเนาด้วยความปลอดภัย และถึงมือแพทย์โดยเร็วที่สุด ตามมาตรฐานการบริการด้านสาธารณสุขต่อไป” รมว.คมนาคม กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.ค. 64)
Tags: COVID-19, ศักดิ์สยาม ชิดชอบ, โควิด-19