นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ภาวะหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นในทุกประเทศ ขณะที่ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นสูงกว่าหลายประเทศ โดยไตรมาส 1/64 อยู่ที่ 90.5% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากรายได้ของประชาชนลดลง ขณะที่ภาระหนี้เดิมเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ ในประเทศไทยพบว่าหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ เป็นหนี้เพื่อที่อยู่อาศัย 34% สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต 28% ซึ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากมีเจ้าหนี้หลากหลาย ทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีสัดส่วน 72% คิดเป็น 3 ใน 4 ส่วนที่เหลืออยู่นอกการกำกับดูแลของ ธปท.
โดยที่ผ่านมา ธปท.เร่งแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยต้นน้ำ คือ ให้ความรู้ทางการเงินแก่ภาคประชาชนไม่ให้ก่อหนี้เกินตัว กลางน้ำ คือ ออกมาตรการกำกับดูแล และวางกฎเกณฑ์ควบคุมดูแลเจ้าหนี้ ส่วนปลายน้ำ คือ วางโครงสร้างพื้นฐาน สร้างเครื่องมือ กลไกในการแก้ปัญหาหนี้ เช่น คลินิกแก้หนี้ ทางด่วนแก้หนี้ มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ เป็นต้น รวมทั้ง มาตรการลดเพดานดอกเบี้ย สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลลงอีก 2-4% และมาตรการดูแลในสถานการณ์โควิดตั้งแต่ปี 2563 จนล่าสุดมาตรการระยะ 3 ในช่วง พ.ค.2564
“เดือน ส.ค.นี้ ธปท.จะเปิดตัวโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชนอย่างเป็นทางการ โดยได้นำร่องผ่านเว็บไซต์ ธปท.ไปบ้างแล้ว โครงการนี้จะให้คำแนะนำ ช่วยเหลือลูกหนี้รายกลุ่ม ทั้งรายย่อย และธุรกิจ โดยได้รับความร่วมมือจากทุกสถาบันการเงินเข้ามาให้คำแนะนำ บริหารจัดการหนี้ในสถานการณ์โควิด-19 ทั้งการลดหนี้ การหารายได้ การควบคุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เป็นต้น” นางธัญญนิตย์ ระบุ
ที่ผ่านมา ธปท.เข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้แล้วคิดเป็นมูลหนี้กว่า 1.66 ล้านล้านบาท หรือ 4.4 ล้านบัญชี เช่น โครงการคลินิกแก้หนี้ ช่วยไปแล้วกว่า 1.9 หมื่นคน 6 หมื่นบัญชี วงเงิน 5 พันล้านบาท ทางด่วนแก้หนี้ กว่า 2.8 แสนราย มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ กว่า 2.67 แสนบัญชี และล่าสุดสินเชื่อเช่าซื้อ กว่า 2.2 หมื่นราย
ในระยะต่อไป ธปท.จะดำเนินการใน 4 เรื่อง คือ 1.วางโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ซึ่งมีเครดิตบูโรดำเนินการอยู่ โดยจะดึงข้อมูลเจ้าหนี้ให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ 2.ผลักดันให้เจ้าหนี้ให้สินเชื่อด้วยความรับผิดชอบและเป็นธรรม ไม่ให้ลูกค้ามีหนี้เกินตัว ต้องมีความสามารถในการชำระหนี้ 3.ให้ความรู้การบริหารหนี้กับประชาชนอย่างครบวงจร และ 4.ส่งเสริมให้มีช่องทางการกู้ยืมเงินที่มีความหลายหลายและเหมาะสม
นางธัญญนิตย์ ระบุว่า ในปี 65 มีปัญหาใหญ่ที่ต้องติดตาม คือ หนี้ภาคการเกษตร ซึ่งมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดูแลลูกหนี้ส่วนใหญ่ ดังนั้นการที่ ธปท.จะเข้าไปวางกฎเกณฑ์การตัดหนี้จึงทำได้ยาก แต่ก็อยากเห็นแนวปฏิบัติแบบธนาคารพาณิชย์มาใช้กับ ธ.ก.ส. แม้ว่าจะมีกฎหมายเฉพาะ และลักษณะของลูกค้าที่มีรายได้ตามการเก็บเกี่ยวผลผลิตแต่ละชนิดตามฤดูกาล แต่ ธปท.จะต้องหาวิธีดำเนินการ คงไม่ใช่ปล่อยให้เป็นแบบนี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.ค. 64)
Tags: GDP, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., ธัญญนิตย์ นิยมการ, หนี้ครัวเรือน, หนี้ภาคการเกษตร, หมอหนี้, เศรษฐกิจไทย