นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายในไตรมาส 3/64 ธปท. เตรียมออกประกาศหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำกับดูแลค่าธรรมเนียม (fee) ของธนาคารพาณิชย์รวมกว่า 300 รายการ เพื่อให้การคิดค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมต่าง ๆ สะท้อนต้นทุนและรายได้แท้จริงของสถาบันการเงินมากที่สุด
เบื้องต้นจะมีการทบทวนหลักเกณฑ์ค่าธรรมเนียมเพื่อช่วยเหลือประชาชน และจะให้สถาบันการเงินเปิดเผยค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมต่าง ๆ อย่างชัดเจนบนเว็บไซต์ และจะต้องส่งให้ ธปท.เพื่อรวบรวมข้อมูลค่าธรรมเนียมของสถาบันการเงินทั้งหมด เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาดูเพื่อเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมแต่ละประเภทของแต่ละสถาบันการเงินได้ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ
“หลักเกณฑ์ที่จะประกาศนี้ จะคล้ายกับหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการให้บริการทางการเงินอย่างเป็นธรรม (มาร์เก็ตคอนดักท์) ซึ่งจะมีอยู่ด้วยกัน 7-8 ข้อที่จะกำหนด แต่ธปท.จะไม่กำหนดเป็นอัตราว่าค่าธรรมเนียมแต่ละประเภทว่าจะเป็นเท่าไร เพราะต้นทุนแต่ละธนาคารแตกต่างกัน และให้เกิดการแข่งขันระหว่างธนาคาร และเมื่อประกาศหลักเกณฑ์ไปแล้ว ธปท.จะสุ่มดูว่า อัตราค่าธรรมเนียมเป็นอย่างไร และต้องตอบให้ได้ว่าค่าธรรมเนียมดังกล่าว สอดคล้องกับต้นทุนของธนาคารหรือไม่”
นางธัญญนิตย์ กล่าว
ส่วนกรณีที่มีการเสนอให้ ธปท. พิจารณาปรับลดเพดานดอกเบี้ยรายย่อย อาทิ ดอบเบี้ยบัตรเครดิต หรือสินเชื่อบุคคลนั้น ขณะนี้ ธปท. กำลังพิจารณาอยู่ ยังไม่มีคำตอบว่าจะลดหรือไม่ลด เพราะต้องพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ให้รอบคอบทุกด้าน ทั้งการกำหนดราคาที่เหมาะสม และการเข้าถึงแหล่งเงินของประชาชนบางกลุ่ม เพราะหากมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงก็จะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินในระบบได้ ซึ่งก็จะต้องไปพึ่งพาหนี้นอกระบบแทน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.ค. 64)
Tags: ค่าธรรมเนียม, ธนาคารพาณิชย์, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., ธัญญนิตย์ นิยมการ, ธุรกรรมการเงิน, สถาบันการเงิน