CIMB เผย H1/64 กำไรลดตามรายได้รับผลกระทบความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

นายพอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMB) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารสำหรับงวด 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.64 มีรายได้จากการดำเนินงานจำนวน 7,284.1 ล้านบาท ลดลง 644.2 ล้านบาท หรือ 8.1% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 63 สาเหตุหลักเกิดจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 11.7% และรายได้อื่น 2.3% สุทธิกับการเพิ่มขึ้นของ รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ 8.9%

กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 3,150.8 ล้านบาท ลดลง 64.3 ล้านบาท หรือ 2.0% เนื่องจากการลดลงของรายได้จากการดำเนินงาน สุทธิกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง 12.3% กำไรสุทธิจำนวน 954.8 ล้านบาท ลดลง 431.1 ล้านบาท หรือ 31.1% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันสาเหตุหลักเกิดจากผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้น 19.1% เป็นผลจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและโอกาสที่คุณภาพสินเชื่อของลูกค้าที่จะแย่ลงจากผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19

เมื่อเปรียบเทียบกับผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนปี 63 รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 61.6 ล้านบาท หรือ 8.9% ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการเป็นนายหน้าขายประกันและค่าธรรมเนียมจากการเป็นผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้ ในขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง 672.5 ล้านบาท หรือ 11.7% เป็นผลจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อและธุรกิจเช่าซื้ออันเนื่องมาจากการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อลดลงและรายได้อื่นลดลง 33.4 ล้านบาท หรือ 2.3% ส่วนใหญ่เกิดจากการลดลงของกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับงวด 6 เดือนปี 64 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 63 ลดลง 579.9 ล้านบาทหรือ 12.3% สาเหตุหลักมาจากการบริหารจัดการ เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดีขึ้นและการลดลงของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 56.7% ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 63 อยู่ที่ 59.5%

อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (NIM) สำหรับงวด 6 เดือนปี 64 อยู่ที่ 3.2% ลดลงจากงวดเดียวกันปี 63 อยู่ที่ 3.3% เป็นผลจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อและธุรกิจเช่าซื้อ

ณ วันที่ 30 มิ.ย.64 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 217.8 พันล้านบาท ลดลง 4.1% เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธ.ค.63 กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท) จำนวน 242.9 พันล้านบาท ลดลง 3.4% จากสิ้นปี 63 ซึ่งมีจำนวน 251.4 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารลดลงเป็น 89.6% จาก 90.3% ณ วันที่ 31 ธ.ค.63

สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) อยู่ที่ 10.6 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นอยู่ที่ 4.8% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธ.ค.63 อยู่ที่ 4.6% สาเหตุหลักเกิดจากการลดลงของยอดสินเชื่อโดยรวมในขณะที่ยอดสินเชื่อด้อยคุณภาพเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก อย่างไรก็ตามธนาคารยังมีมาตรฐานการอนุมัติสินเชื่อ และนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม ตลอดจนได้มีแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลลูกหนี้และการติดตามหนี้

อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 30 มิ.ย.64 อยู่ที่ 101.4% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 63 ซึ่งอยู่ที่ 93.3% ณ วันที่ 31 ธ.ค.63 ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 9.9 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 1.8 พันล้านบาท

เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 30 มิ.ย.64 มีจำนวน 53.4 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยง 20.6% โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ 15.0%

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top