ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เปิดเผยว่า กำไรสุทธิของธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยสำหรับครึ่งแรกของปี 64 จำนวน 13,280 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 10,765 ล้านบาท โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 4.8% จากผลของการรวมธนาคารเพอร์มาตาตั้งแต่เดือน พ.ค. 63 และมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 2.12% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งในครึ่งแรกของปีก่อน รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 18.8% จากค่าธรรมเนียมบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวม และค่าธรรมเนียมธุรกิจหลักทรัพย์ รวมถึงการรวมรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารเพอร์มาตา
สำหรับอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 49.5% โดยธนาคารมีการตั้งสำรองตามหลักความระมัดระวังโดยคาดการณ์ปัจจัยผลกระทบสำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า
ธนาคารกรุงเทพยังคงดำรงฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ เพื่อรองรับผลกระทบจากเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้าและมีความไม่แน่นอนมากขึ้น
ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 64 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,420,305 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% จากสิ้นปี 63 จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจและสินเชื่อกิจการต่างประเทศ แม้ว่าอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ในระดับทรงตัวที่ 3.7% ซึ่งธนาคารยังคงมีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 190.3%
ธนาคารมีเงินรับฝาก ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 64 จำนวน 3,046,985 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.4% จากสิ้นปีก่อน เป็นผลจากการที่ลูกค้าต้องการดำรงสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงในภาวะที่มีความไม่แน่นอน ทำให้อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ 79.4% ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ 18.4%, 15.9% และ 15.0% ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด
BBL ระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2/64 ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอก 3 ของโควิด-19 ส่งผลให้เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจต่างๆปรับตัวลงต่อเนื่อง เช่น ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ต่ำสุดในรอบ 19 ปี กระทบต่อไปยังการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังไม่สามารถฟื้นตัว เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม การส่งออกของประเทศไทยปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ซึ่งได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา ร่วมกับการใช้จ่ายของภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจ แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยขณะนี้ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง มีผู้ติดเชื้อใหม่จำนวนหลายพันรายต่อวัน การกลายพันธุ์ของไวรัสทำให้การระบาดยืดเยื้อ สัดส่วนประชากรไทยที่ได้รับวัคซีนยังไม่มากพอ และแผนการเปิดประเทศ เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงอยู่ในช่วงเริ่มดำเนินการ
ด้วยเหตุนี้ ความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐ ในการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจและลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการประคับประคองและฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารกรุงเทพได้สนับสนุนมาตรการของภาครัฐและเร่งดำเนินการช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมดูแลลูกค้าให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกค้าแต่ละราย ขณะเดียวกัน ธนาคารให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ค. 64)
Tags: BBL, ธนาคารกรุงเทพ, ผลประกอบการ, หุ้นไทย, เพอร์มาตา