น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลบราซิล ว่าด้วยกรณีการอุดหนุนสินค้าน้ำตาลของไทย ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
เรื่องนี้สืบเนื่องจากในปี 59 บราซิลได้ยื่นเรื่องการอุดหนุนสินค้าน้ำตาลทราย ภายใต้กระบวนการระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก (WTO) โดยกล่าวหาว่าไทยให้การอุดหนุนการผลิตและส่งออกสินค้าอ้อยและน้ำตาล ซึ่งส่งผลกระทบต่อบราซิล และอ้างว่าระบบอ้อยและน้ำตาลของไทยไม่สอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้ WTO
ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ไทยได้ดำเนินการการแก้ไขข้อกล่าวหาดังกล่าวด้วยการออกมาตรการต่างๆ อาทิ ปรับปรุงโครงสร้างอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ การยกเลิกระบบโควตาสินค้าน้ำตาล รวมทั้งการยกร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาล เป็นต้น ส่วนบราซิลได้เสนอให้จัดทำร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับไทยในปี 62 ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันปรับแก้ MOU จนเป็นที่ยอมรับแล้ว คาดว่าจะมีการลงนามภายในเดือนกรกฎาคมนี้
สาระหลักของร่าง MOU ประกอบด้วย การรับทราบการปรับแก้มาตรการของไทยที่เกี่ยวข้องกับข้อกังวลของบราซิล ได้แก่
1) ยกเลิกระบบโควตาสินค้าน้ำตาล เมื่อ 15 มกราคม 2561
2) ยกเลิกการกำหนดราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในประเทศ โดยแก้ไขมาตรา 17 (18) พ.ร.บ.อ้อยและน้าตาลทราย พ.ศ. 2527
3) ยกเลิกมาตรการให้เงินช่วยเหลือ 160 บาทต่อตันอ้อย แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย เมื่อ 11 ตุลาคม 2559
4) ยกเลิกการจ่ายเงินชดเชยให้กับโรงงาน ในกรณีที่ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น โดยแก้ไขมาตรา 47 และมาตรา 56 พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2527 ซึ่งขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายที่มีการแก้ไข อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ค. 64)
Tags: MOU, น้ำตาล, บราซิล, รัชดา ธนาดิเรก, อ้อย