อัยการรัฐและทนายจากหน่วยงานบริหารของหลายรัฐในสหรัฐเตรียมประกาศผลการทำข้อตกลงชดเชยมูลค่า 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งมากเป็นประวัติการณ์ จากคดีที่มีการกล่าวหาว่าบริษัทผู้จำหน่ายยารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ 3 ราย และบริษัทผู้ผลิตยาอย่างจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (J&J) มีส่วนร่วมในการก่อให้เกิดวิกฤตยาแก้ปวดโอปิออยด์ (Opioid) ทั่วประเทศ
ภายใต้ข้อตกลงชดเชยดังกล่าว บริษัทแม็คเคสสัน คอร์ป, บริษัทคาร์ดินัล เฮลธ์ อิงค์ และบริษัทอเมริซอร์สเบอร์เกน คอร์ป ต้องจ่ายเงินชดเชยรวมกันเป็นจำนวน 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ ในขณะที่ J&J เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมจ่ายเงินชดเชยเป็นจำนวน 5 พันล้านดอลลาร์
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐระบุว่า ระหว่างปี 2542-2562 ในสหรัฐมีผู้เสียชีวิตจากการใช้ยาแก้ปวดโอปิออยด์เกินขนาดเกือบ 5 แสนราย และวิกฤตยาแก้ปวดโอปิออยด์นั้นมีแนวโน้มย่ำแย่ลงระหว่างที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา CDC เปิดเผยข้อมูลที่มีการบันทึกไว้ โดยระบุว่า ปี 2563 เป็นปีที่มีผู้เสียชีวิตจากการได้รับยาเกินขนาดมากที่สุดที่ระดับ 93,331 ราย ซึ่งมากกว่ายอดของปีก่อนหน้าถึง 29% โดยในจำนวนนี้ มีกรณีที่เกี่ยวข้องกับยาแก้ปวดโอปิออยด์ถึง 69,710 ราย หรือ 74.7% ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด
บริษัทผู้จำหน่ายยาทั้ง 3 แห่งถูกกล่าวหาว่ามีระเบียบการควบคุมยาที่หละหลวม ทำให้ยาแก้ปวดโอปิออยด์ซึ่งเสพติดได้ง่ายนั้น ไหลเข้าสู่ช่องทางจำหน่ายผิดกฎหมาย และส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชุมชนต่างๆ ขณะที่ J&J ถูกกล่าวหาว่าปิดบังข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงในการเสพติดยาแก้ปวดโอปิออยด์
แหล่งข่าวระบุว่า อาจมีรัฐกว่า 40 รัฐยอมรับข้อตกลงครั้งนี้ อย่างไรก็ดี รัฐอื่นๆ ก็อาจเลือกยื่นฟ้องคดีด้วยตนเองต่อไปเช่นกัน โดยรัฐต่างๆ จะมีเวลา 30 วันในการตัดสินใจว่าจะยอมรับข้อตกลงโดยรวมนี้หรือไม่ และหลังจากนั้นจะมีเวลาเพิ่มเติมในการโน้มน้าวให้หน่วยงานบริหารของเมืองและเขตต่างๆ ในรัฐของตนยอมรับข้อตกลง
ทั้งนี้ หลายรัฐมีการออกกฎหมายหรือตกลงกับหน่วยงานการเมืองท้องถิ่นเรื่องแนวทางการบริหารเงินชดเชยแล้ว สำหรับกรณีที่มีการจ่ายเงินชดเชยให้ทุกรัฐทั่วประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ค. 64)
Tags: J&J, Opioid, คาร์ดินัล เฮลธ์ อิงค์, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน, ยาแก้ปวด, สหรัฐ, อเมริซอร์สเบอร์เกน คอร์ป, แม็คเคสสัน คอร์ป, โอปิออยด์