พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงนามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 37) ซึ่งเป็นการยกระดับความเข้มข้นของมาตรการ และการบังคับใช้อย่างจริงจังเพิ่มเติมขึ้น จากข้อกำหนดที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า เพื่อเร่งแก้ไขและบรรเทาสถานการณ์ฉุกเฉินให้คลี่คลายลงโดยเร็วที่สุด
โดยการกำหนดมาตรการที่จำเป็นและต้องเร่งดำเนินการโดยด่วน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 จนถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2564 หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ดังนี้
1.ให้ปิดสถานที่ที่ระบุไว้ในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่ เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 32) ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2564 (ฉบับที่ 33) ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2564 (ฉบับที่ 34) ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2564 (ฉบับที่ 35 ) ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 และ (ฉบับที่ 36) ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 และตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 28) ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 โดยสำหรับการให้บริการตามข้อ 2 ถึงข้อ 6 ให้เปิดดำเนินการได้เฉพาะภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบและมาตรการป้องกันโรคที่กำหนดที่เข้มงวดยิ่งขึ้นจากที่ได้เคยกำหนดไว้แล้ว
2.การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 น. โดยห้ามการบริโภคในร้าน และให้เฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น
3.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดบริการได้เฉพาะแผนกซูเปอร์มาร์เก็ต แผนกยาและเวชภัณฑ์ พื้นที่ซึ่งจัดให้บริการฉีดวัคซีน
4.โรงแรม ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติ โดยให้งดกิจกรรมจัดการประชุม การสัมมนา หรือการจัดเลี้ยง
5.ร้านสะดวกซื้อ และตลาดสด ให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 น. โดยจำกัดเวลาสำหรับร้านสะดวกซื้อ ซึ่งตามปกติเปิดให้บริการในช่วงเวลากลางคืน ให้ปิดบริการในระหว่างเวลา 20.00 – 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น
6.โรงเรียน สถาบันการศึกษา หรือฝึกอบรม และสถานศึกษาต่างๆ ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่ได้ประกาศไว้แล้วก่อนหน้านี้
ส่วนการดำเนินการของโรงพยาบาล สถานพยาบาล คลินิกแพทย์รักษาโรค ร้านขายยา ร้านค้าทั่วไป โรงงาน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกรรมการเงิน ธนาคาร ตู้เอทีเอ็ม ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ไปรษณีย์และพัสดุภัณฑ์ ร้านจำหน่ายอาหารสัตว์ ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ร้านจำหน่ายเครื่องมือช่างและอุปกรณ์ก่อสร้าง ร้านจำหน่ายสินค้าเป็ดเตล็ดอันจำเป็น สถานที่จำหน่ายแก๊สหุงต้ม เชื้อเพลิงปั๊มน้ำมัน ปั๊มแก๊ส ตลาดนัด (เฉพาะส่วนที่จำหน่ายอาหารและวัตถุดิบเพื่อการบริโภค สถานรับเลี้ยงเด็ก (เฉพาะสถานที่รับเลี้ยงเด็กในโรงพยาบาล และที่มีการรับตัวไว้พักค้างคืนเป็นปกติธุระ) สถานดูแลผู้สูงอายุ (เฉพาะที่มีการรับตัวไว้พักค้างคืนเป็นปกติธุระ) ธุรกิจประกันภัย หน่วยบริการงานช่วยเหลือกู้ภัย ศูนย์บริการหรือร้านซ่อมแซมยานพาหนะ ร้านแบตเตอรี่ หน่วยบริการตรวจสอบหรือซ่อมบำรุงระบบสาธารณูปโภค ระบบระบายน้ำ ระบบท่อส่งน้ำมันและก๊าชธรรมชาติ ผู้จัดเก็บและกำจัดขยะ รวมทั้งบริการส่งสินค้าและอาหารตามสั่ง (delivery online) ยังคงเปิดดำเนินการได้ตามความจำเป็น โดยให้ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
สำหรับผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม อาจมีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.ค. 64)
Tags: กทม., กรุงเทพมหานคร, คอมมูนิตี้มอลล์, ตลาดสด, ปิดชั่วคราว, ร้านสะดวกซื้อ, ศูนย์การค้า, สถานศึกษา, ห้างสรรพสินค้า, อัศวิน ขวัญเมือง, โรงเรียน, โรงแรม