พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ผอ.ศปก.ศบค.) กล่าวผ่านเพจไทยคู่ฟ้าถึงการประเมินสถานการณ์และแนวโน้มในกรณีตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ลดลงว่า ทางศบค.และหน่วยงานภาครัฐได้เตรียมการทุกสถานการณ์ ซึ่งจะมีการประเมินสถาการณ์ขั้นต่อไปตลอดเวลา ส่วนโมเดลอู่ฮั่น เป็นข้อพิจารณาของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อถึงเวลานั้นคงต้องฟังการประเมินจากกระทรวงสาธารณสุข จำเป็นต้องใช้ลักษณะโมเดลอู่ฮั่นหรือไม่ แต่ศบค.มีความพร้อมในทุกกรณี
ส่วนแนวโน้มการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบนั้น พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ไม่ได้ประเมินจากตัวเลขผู้ติดเชื้อเพียงอย่างเดียว ต้องประเมินจากหลายปัจจัย หลายมิติ ซึ่งต้องประเมินจากจำนวนสถานพยาบาลและเรื่องปัจจัยทางเศรษฐกิจด้วย
สำหรับข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.กำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ.2548 (ฉบับที่ 28) ที่จะเริ่ม 20 ก.ค.นี้ เป็นคำสั่งในลักษณะห้ามดำเนินการ แต่ช่วงเวลานอกเคอร์ฟิวยังมีความจำเป็นต้องเว้นในบางกิจการ กิจกรรม ในช่วงนี้จึงให้ขอให้งด ให้หลีกเลี่ยงไปก่อน
“เมื่อถึงมาตรการที่เข้มข้นต่อไป อาจใช้คำว่า ห้าม เมื่อถึงคำว่า ห้าม คงมีกิจการ กิจกรรมน้อยกว่านี้มาก”พล.อ.ณัฐพล กล่าว
สำหรับความสำเร็จในการในการควบคุมโรคนั้น พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ต้องเกิดจากความเข้มข้นจริงจังของหน่วยงานภาครัฐ เอกชนหรือผู้ประกอบการให้การสนับสนุนตามมาตรการที่กำหนด และประชาชนให้ความร่วมมือกับมาตรการต่างๆ นอกจากนี้สื่อมวลชนมีส่วนช่วยในการทำความเข้าใจกับประชาชน จะทำให้มาตรการต่างๆมีประสิทธิผล
“ถ้าทั้ง 4 ส่วนนี้ ให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง ศบค.คาดว่าน่าจะเอาอยู่ แต่ถ้าลำพังศบค.อย่างเดียว ต่อให้มีมาตรการเข้มงวดอย่างไรก็ตาม ถ้าอีกสองสามส่วนไม่ให้ความร่วมมือ ศบค.คิดว่าไม่น่าจะเอาอยู่”พล.อ.ณัฐพล กล่าว
อย่างไรก็ตาม ศบค.ทราบดีว่า การใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้นส่งผลทำให้ประชาชนเดือดร้อน แต่อยากขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ช่วยดำเนินการตามมาตรการของศบค. เพื่อให้อีก 14 วันข้างหน้ามาตรการต่างๆจะได้ประสิทธิผล และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายศบค.จะได้ผ่อนคลายมาตรการต่าง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน แต่ศบค.มีการประเมินสถานการณ์ทุกๆ 7 วันอีกครั้ง
พล.อ.ณัฐพล ยังกล่าวถึงแนวทางการจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขก็ทำงานเต็มที่ และขอให้ประชาชนเข้าใจและเห็นใจกระทรวงสาธารณสุขที่ทำงานเต็มที่ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ เมื่อเชื้อไวรัสมีการกลายพันธุ์ ทำให้วัคซีนชนิดหนึ่งอาจไม่เหมาะกับสถานการณ์นั้น จึงต้องปรับรูปแบบกันไป ประกอบกับปริมาณวัคซีนในตลาดมีจำกัด ทำให้ไม่สามารถเลือกได้ว่าจะซื้อวัคซีนยี่ห้อนี้ในเวลานี้ ซึ่งกลไกเป็นของผู้ขาย ส่วนผู้ซื้อมีความจำเป็นเลือกซื้อตามปริมาณที่อยู่ในตลาด หรือในส่วนที่ผู้ผลิตกำหนด รวมถึงการกำหนดเวลาจัดส่ง เป็นไปตามที่ผู้ผลิตกำหนด เราไม่สามารถไปบังคับหรือกำหนดได้เองแต่ละเดือนต้องได้วัคซีนตามที่เราต้องการ
ส่วนการจำกัดการส่งออกวัคซีนแอสตร้าเซเนก้านั้น เมื่อช่วงเช้านายกรัฐมนตรีได้เชิญนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือในเรื่องการปรับแผน ให้มีการฉีดเข็มที่ 3 ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ หรือปริมาณวัคซีนที่เข้ามาไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ซึ่งเรื่องวัคซีนนายอนุทินจะนำกลับไปพิจารณาและเสนอต่อนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
นอกจากนี้ เลขาสมช. เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้แสดงความเป็นห่วงปัญหาผู้ป่วยรอเตียงนาน ซึ่งได้สอบถามวิธีแก้ปัญหาจากกระทรวงสาธารณสุข และกทม. ซึ่งเบื้องต้นจะมีการคัดกรองให้เป็นระบบ โดยจะเริ่มตั้งแต่การแยกกักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เซตระบบให้เสร็จโดยเร็ว และในช่วงที่ระบบไม่สมบูรณ์ให้จัดตั้งศูนย์พักคอยรอการส่งต่อ โดยเร่งรัดให้กทม. มีศูนย์พักคอยในทุกเขต อย่างน้อยเขตละหนึ่งแห่ง เพื่อให้ผู้ที่ติดเชื้อที่ไม่สามารถเข้าสู่ระบบ Home Isolation ได้ จะได้มาอยู่ที่ศูนย์พักคอยเพื่อรอการส่งต่อตามความรุนแรงของอาการ ซึ่งผู้ว่ากทม. รับปากว่า อย่างน้อยภายในสิ้นเดือนก.ค. จะต้องมีศูนย์พักคอยในทุกเขตอย่างน้อยหนึ่งแห่ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.ค. 64)
Tags: ณัฐพล นาคพาณิชย์, พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, ล็อกดาวน์, สภาความมั่นคงแห่งชาติ, สมช.