นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เปิดเผยว่า แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 แต่บริษัทไม่ได้หยุดนิ่งในการขยายธุรกิจ เนื่องจากบริษัทมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ยังต่ำที่ 1.28 เท่า ขณะที่มีโครงการในมือทั้งจากบริษัทลูกหรือบริษัทในเครือจำนวนมาก ประกอบกับพันธมิตรที่บริษัทมีอยู่ โดยมีความพร้อมจะร่วมมือกันเพื่อทำโครงการขนาดใหญ่คาดว่าภายในปีนี้น่าจะเห็นความชัดเจน
“ปีนี้เป็นปีทีท้าทาย บริษัทยังมีโครงการในอนาคต ด้วยฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง บริษัทลูก บริษัทในเครือ จะร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อเข้าไปทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่จะมีผลตอบแทนมหาศาล ผมเชื่อว่าปีนี้คงเห็นผล” นายคีรี กล่าวต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในวันนี้
สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ คาดจะเริ่มงานก่อสร้างในปีนี้ มูลค่า 1.5-1.8 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้บริษัทร่วมทุน คือ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ที่มีผู้ร่วมทุน คือ บมจ.การบินกรุงเทพ (40%) บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC)
ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีความรุนแรงขึ้นในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส แต่เนื่องจากบริษัทได้ขายรายได้ส่วนใหญ่จากการเดินรถไฟฟ้าให้กับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF) ซึ่งบริษัทฯถือ 33.33% ทำให้ผลกระทบโดยตรงที่มีต่อบริษัทไม่มากนัก
“วิกฤตโควิด ทำให้ทุกอย่างค่อนข้างลำบาก แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเรามีสภาพคล่องผมมั่นใจว่าเราจะยังขยายตัวไปได้ …ผมเชื่อว่าโควิดจัดการได้เรียบร้อย หรือมีความมั่นใจมากขึ้น เศรษฐกิจก็จะคืนมา ตัวเลขผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายชมพู สายสีเหลืองจะคืนมา ตัวเลขผู้โดยสารความจริงวันนี้ถ้าไม่มีโควิดคนที่ใช้ระบบรถไฟฟ้าสีเขียว และอนาคตถึง 1.3 ล้านคน วันนี้ตกลงมา ภาวะนี้ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้”
นายคีรี กล่าว
นายคีรี กล่าวว่า วันนี้บริษัทได้ขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป (General Mandate) จำนวนไม่เกิน 2,600 ล้านบาท เพื่อให้บริษัทมีความคล่องตัวในการเข้าซื้อกิจการ หรือร่วมทุนกิจการ หรือการเจรจาโครงการต่างๆ
ขณะที่ผู้ถือหุ้น BTS อนุมัติการออกและจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทครั้งที่ 6 (BTS-W6) ครั้งที่ 7 (BTS-W7) และครั้งที่ 8 (BTS-W8) รวมจำนวนไม่เกิน 4,608,855,895 หน่วย นายคีรี กล่าวว่า หากผู้ถือหุ้นใช้สิทธิแปลงสภาพทั้งหมดคาดว่าบริษัทจะระดมทุนได้ 6.1 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน และยังมีโครงการลงทุนรถไฟฟ้าในเส้นทางอนาคตที่คาดว่าจะใช้เงินลงทุนมาก เพราะเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
ประธานกรรมการ BTS ยังกล่าววา บริษัทได้ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานครเพื่อทวงหนี้ที่ค้างค่าจ้างเดินรถและติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกลของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายกว่า 3 หมื่นล้านบาทที่ติดค้างนานกว่า 3 ปี เพื่อขอความเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม บริษัทยังเปิดกว้างให้มีการเจรจา และย้ำชัดเจนกว่าจะไม่หยุดการเดินรถไฟฟ้า เพราะไม่สามารถนำความลำบากของประชาชนมาเป็นตัวประกัน
ส่วนการขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นสิ่งที่รัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจ พร้อมระบุว่า รถไฟฟ้าเส้นทางสายสุขุมวิทและเส้นทางสีลม บริษัทเป็นผู้ลงทุนเอง 100%
“เราเพิ่งจะฟ้องศาลไปเมื่อ 2-3 วันนี้เอง ก่อนหน้าเราได้ยื่น Notice กับ กทม. เขียนจดหมายถึงผู้นำให้เข้าใจ ผมคิดว่าไม่สามารถทำอย่างอื่นได้นอกจากฟ้องไว้ก่อน แต่หนี้สินที่มีกับรัฐบาล(กทม.)มีสัญญาและได้มีการจ่ายบางส่วน ดังนั้นไม่ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง”
นายคีรี กล่าว
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ BTS และ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส กล่าวว่า เมื่อวันที่ 15 ก.ค.64 บริษัทได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อทวงหนี้กับ กทม.ในสัญญาว่าจ้างเดินรถสายสีเขียวส่วนต่อขยาย จำนวนเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท รวมดอกเบี้ยตามสัญญา
ส่วนเงินค่าติดตั้งระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกลของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายมูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้านบาท กำลังเตรียมหนังสือเพื่อยื่นต่อศาลปกครองกลางเช่นกัน ทั้งนี้จากการหารือฝ่ายกฎหมาย ระบุว่าเนื่องจากเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสาธารณะ จึงไม่สามารถฟ้องแพ่งได้
นายสุรพงษ์ ยังกล่าวว่า จำนวนผู้โดยสารระบบรถไฟฟ้าสายสีเขียวเมื่อเดือน เม.ย.63 ที่มีการระบาดโควิด-19 รอบแรกและมีการล็อกดาวน์ทำให้จำนวนผู้โดยสารลดลงไป 80% แต่ในเดือน พ.ย.63 กลับมาเติบโต 75% และเมื่อเกิดการระบาดระลอกที่ 2 จำนวนผู้โดยสารลดลง 47%ในเดือนธ.ค.63-ม.ค.64 แต่ก็กลับมาอย่างรวดเร็วในเดือน มี.ค.
และการระบาดรอบล่าสุด วันนี้จำนวนผู้โดยสารลดลงใกล้เคียงกับการระบาดรอบแรกที่ผู้โดยสารลดลงไป 80%
ปัจจุบันบริษัทเดินรถไฟฟ้ารวมระยะทาง 135 กม. โดยรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสุขุมวิทและสายสีลม รวมส่วนต่อขยาย มีระยะทาง 68.25 กม. 60 สถานี เป็นสายที่ยาวที่สุด รถไฟฟ้าสายสีทอง 1.8 กม. รถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. 30 สถานี รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. จำนวน 23 สถานี
ทั้งนี้ รถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีเหลืองอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ตามกำหนดการเดิมในเดือน ต.ค.64 จะเริ่มเปิดให้บริการ แต่เพราะได้รับมอบพื้นที่ล่าช้า ทำให้คาดว่าจะเปิดเดินรถสายสีเหลืองส่วนแรกต้นปี 65 และทั้งสายในกลางปี 65 ส่วนสายสีชมพูจะเปิดส่วนแรกกลางปี 65 และทั้งสายจะเปิดสิ้นปี 65
นอกจากนี้ยังมีโครงการระบบรางในอนาคต ระยะทาง 77 กม. ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม บางขุนนนท์ -มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กม.ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี, สายสีเขียว ช่วงบางหว้า-ตลื่งชัน, สายสีเทา ระยะที่ 1 ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ, LRT บางนา-สวุรรณภูมิ รวมทั้งระบบขนส่งทางรางมีระยะทาง 212 กม.คาดบริษัทมีโอกาสที่จะบริหารรถไฟฟ้าทั้งหมด
BTS ได้ปรับธุรกิจแบ่งเป็น 3 ส่วนได้แก่ MOVE เป็นการให้บริการคมนาคมขนส่ง ได้แก่ ระบบราง รถโดยสารด่วนพิเศษ (BRT) สนามบินอู่ตะเภา ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง M6 และ M81 เรือด่วนเจ้าพระยา
MIX ผู้ให้บริการ Offline-to-Online (O2O) โซลูชั่นส์ และ ตลาดข้อมูลที่สามารถนำมำช้ประโยชน์ได้ (data marketplace) ได้แก่ ธุรกิจสื่อโฆษณา (VGI), ธุรกิจบริการชำระเงิน ได้แก่ แรบบิท แรบบิทรีวอร์ดส , ธุรกิจโลจิสติกส์ (KEX),ดาต้ามาร์เก็ตเพลสและการตลาด
MATCH เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และสร้างการทำงานทางธุรกิจร่วมกับพันธมิตรผ่านการเข้าถึงแพลตฟอร์ม ได้แก่ การร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจ , ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจก่อสร้าง ,ธุรกิจอาหาร ,พอร์ตการลงทุน
โดยในปี 63/64 MOVE มีสัดส่วนรายได้มากที่สุด 90% MIX มีสัดส่วน 7% และ MATCH มีสัดส่วน 3%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.ค. 64)
Tags: BTS, คีรี กาญจนพาสน์, บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, รถไฟฟ้า, สุรพงษ์ เลาหะอัญญา, หุ้นไทย