พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ทำพิธีเปิดโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงานต้นแบบ (Battery Pilot Plant) ในรูปแบบเสมือนจริงของ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ผ่านระบบออนไลน์จากทำเนียบรัฐบาลในช่วงเช้าวันนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวในพิธีเปิดว่า โรงงานของ GPSC เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานที่ต้องตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลในการมุ่งนำพาประเทศเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ในอนาคต ด้วยกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกด้านพลังงานในการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ โดยประเทศส่วนใหญ่ให้ความสำคัญและตั้งเป้าลดก๊าซคาร์บอนฯให้เหลือศูนย์ในปี ค.ศ.2050 ซึ่งรัฐบาลได้เร่งผลักดันแผนพลังงานแห่งชาติมุ่งเน้นกำหนดเป้าหมายในการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนฯและการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ให้สอดรับกับทิศทางด้านพลังงานของทั่วโลก และที่สำคัญต้องสอดรับกับการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยอีกด้วย
ปัจจุบันมีการใช้รถยานยนต์ไฟฟ้า (EV) มากขึ้น ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ได้รับความนิยม คือ ราคาลดลง เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น และการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่แบบก้าวกระโดด เพื่อทำให้ประสิทธิภาพของรถ EV มีมากขึ้น การส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมให้สอดคล้องรองรับตลาดรถ EV เป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องการสนับสนุนให้เกิดขึ้น ที่ผ่านมาได้กำหนดให้อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ
“การเปิดโรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในวันนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยรักษาจุดยืนความเป็นผู้นำฐานการผลิตยานยนต์ในภูมิภาคและต่อยอดเปลี่ยนผ่านตัวเองเข้าสู่เทคโนโลยีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ให้เร็วยิ่งขึ้น เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางของการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของอาเซียน”
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าการเชื่อมโยงและสนับสนุนกันระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงพันธมิตรทั้งไทยและต่างประเทศจะสร้างการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมด้านพลังงานของประเทศ พร้อมทั้งอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับสากลได้อย่างเป็นรูปธรรม และทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก
ด้านนายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC กล่าวว่า โรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน G-Cell โดยใช้เทคโนโลยี SemiSolid ของบริษัทแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 30 MWh (เมกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง
ทั้งนี้ GPSC พร้อมสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการผลักดันประเทศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและการลดช่องว่างของระบบพลังงานทดแทน (Renewable Energy) ด้วยนวัตกรรมการผลิตแบตเตอรี่ SemiSolid ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตของบริษัท 24M Technologies Incorporation (24M) จากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งบริษัทได้รับสิทธิ License ในการดำเนินการผลิตและจัดจำหน่าย
บริษัทจะเริ่มต้นจากการผลิต G-Cell แบบ LFP (Lithium Iron Phosphate) หรือ ลิเธียมไอรอนฟอสเฟต ที่มีจุดเด่นในเรื่องความปลอดภัยในการใช้งานสูง และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า จึงเหมาะสมกับแอพพลิเคชั่นที่หลากหลาย รวมทั้งยังสามารถรีไซเคิล (Recycle) ได้ง่ายเมื่อแบตเตอรี่หมดอายุการใช้งาน จึงเป็นแบตเตอรี่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยกำลังการผลิต 30 MWh ต่อปี
ขณะที่บริษัทมีแผนจะขยายกำลังการผลิตของโรงงานนี้เพิ่มเป็น 100 MWh ต่อปี และก้าวสู่โรงงานผลิตเชิงพาณิชย์ขนาดเริ่มต้น 1 GWh (กิกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อปีในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปพื้นที่ตั้งภายในปี 65 ซึ่งเบื้องต้นมองว่าจะต้องอยู่ใกล้กับโรงงานผลิตรถยนต์ หลังจากนั้นมีแผนขยายสู่ 5 GWh ภายใน 5 ปี และเพิ่มเป็น 10 GWh ในอีก 10 ปี วางงบลงทุนในช่วง 10 ปีไว้ที่ 30,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม บริษัทยืนยันว่าในแผนธุรกิจนี้ ยังไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุน เนื่องจากกระแสเงินสดที่ได้จากการลงทุนก่อนหน้าจะมีเพียงพอ
“แผนการดำเนินงานครั้งนี้ จะเสริมสร้างความพร้อมด้านพลังงานให้กับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-CURVE) โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle หรือ EV) การเพิ่มขึ้นของการผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ซึ่งจะสร้างศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศ และเสริมคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนคนไทยตามนโยบายรัฐบาล
นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาและพิจารณาแผนการลงทุนในโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาด Giga-scale ซึ่งจะต่อยอดให้ GPSC เป็นผู้นำทางด้านการให้บริการด้านแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน มุ่งสู่การเป็นผู้พัฒนาโซลูชั่นเพื่อบริหารจัดการพลังงานชั้นนำ (Energy Management Solution Provider) ของประเทศ” นายวรวัฒน์ กล่าว
สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของโรงงานแห่งนี้มีขีดความสามารถผลิตแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงานได้ใน 3 ระดับคือ
1. G-Cell ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นพื้นฐานในรูปแบบ Battery Pouch Cell
2. ผลิตภัณฑ์ G-Pack ที่มีการนำ Battery Pouch Cell มาเชื่อมต่อกันในรูปแบบ Battery Module และ Pack พร้อมทั้งติดตั้งระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ หรือ Battery Management System (BMS) ร่วมด้วย สำหรับการใช้งานในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดใหญ่ (Mobility Application – Light Duty and Heavy Duty) เช่น รถบัสไฟฟ้า เรือไฟฟ้า รถตุ๊กต๊กไฟฟ้า รถไฟฟ้าสี่ล้อขนาดเล็ก รถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า และกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Stationary Application)
3. กลุ่ม G-Box ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พร้อมใช้งาน สำหรับระบบสำรองไฟฟ้า (Uninterruptible Power Supply หรือ UPS) และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System หรือ ESS) ที่มีขนาดตั้งแต่ 10-1,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ขึ้นไป ซึ่งสามารถนำเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) AI (ระบบปัญญาประดิษฐ์) และ Block-chain เข้ามาพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มการให้บริการกับกลุ่มลูกค้า ตามขนาดของความต้องการใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
สำหรับกลุ่มลูกค้าจะเน้นทั้งในกลุ่ม ปตท. กลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SME) รวมไปถึงผู้ประกอบการที่ต้องใช้แบตเตอรี่เป็นส่วนประกอบของสินค้า โดยในระยะแรกจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้ผลิตและใช้งานระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) และยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ด้วยลักษณะการใช้งานที่เหมาะสมกับจุดแข็งของ G-Cell แบบ LFP (ลิเธียมไอรอน ฟอสเฟต)
ส่วนยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่ม Passenger EV ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด และเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ประเทศไทยให้การส่งเสริมและมีเป้าหมายการผลิตให้ได้ 30% ของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศในปี 2573 ซึ่งมักจะนิยมใช้แบตเตอรี่แบบ NMC (Lithium Nickel Manganese Cobalt Oxide) นั้น ในเบื้องต้นบริษัทสามารถนำเข้าแบตเตอรี่แบบ NMC ที่ผลิตจากเทคโนโลยีเดียวกัน โดยบริษัท Anhui Axxiva New Energy Technology Co., Ltd. (AXXIVA) ประเทศจีนที่ได้เข้าไปลงทุนก่อนหน้านี้ ป้อนให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการได้เช่นกัน
ทั้งนี้ แบตเตอรี่ G-Cell ที่ผลิตโดย GPSC ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีการคิดค้นและถูกพัฒนา โดย 24M เป็นแบตเตอรี่ชนิดกึ่งแข็ง ที่มีความปลอดภัยสูง สามารถป้องกันเหตุไฟฟ้าลัดวงจรจากภายในเซลล์แบตเตอรี่ได้เป็นอย่างดี ด้วยโครงสร้างที่มีชั้นฟิล์มพิเศษห่อหุ้มภายใน Unit Cell และด้วยสูตรการผลิตแบบ SemiSolid ส่งผลให้ G-Cell มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยความสามารถในการเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ง่ายกว่าแบตเตอรี่ทั่วไป จึงมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ของ GPSC เมื่อนำมาประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ G-Pack และ G-Box จำหน่ายให้กับลูกค้าแล้วคาดว่าจะสามารถตอบโจทย์ทุกการใช้งานของลูกค้าได้อย่างดี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ก.ค. 64)
Tags: EV, GPSC, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พลังงานไฟฟ้า, ยานยนต์, ยานยนต์ไฟฟ้า, วรวัฒน์ พิทยศิริ, แบตเตอรี่, โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่