กสิกรไทยฯ คาดกำไรแบงก์ Q2/64 ชะลอจากไตรมาสก่อน กันสำรองเพิ่มรับโควิดยืดเยื้อ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ หรือระบบ ธ.พ.ไทยในไตรมาส 2/64 อาจสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งถูกกระทบจากโควิดรอบแรก แต่ระดับกำไรสุทธิในไตรมาส 2/64 ดังกล่าว จะชะลอลงมาที่ 3.48 หมื่นล้านบาท จากที่บันทึกกำไรสุทธิที่ 3.87 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 1/64 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ปะทุขึ้นเป็นรอบที่สามเป็นปัจจัยกดดันต่อทิศทางเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งมีผลกระทบต่อเนื่องมาที่รายได้จากธุรกิจหลักของธ.พ. และทำให้ธ.พ. ต้องเตรียมค่าใช้จ่ายในการกันสำรองฯ เพิ่มมากขึ้น

– รายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ ทั้งรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย เผชิญแรงกดดันมากขึ้นท่ามกลางสัญญาณความเปราะบางของเศรษฐกิจ โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิชะลอลงตามทิศทางดอกเบี้ยเฉลี่ยของพอร์ตสินเชื่อ ซึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา (ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อปล่อยใหม่ระหว่างไตรมาส 2 ก็อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าไตรมาสแรกด้วยเช่นกัน)

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า NIM ในไตรมาส 2/64 อาจปรับตัวลงมาอยู่ในกรอบ 2.45-2.50% จาก 2.53% ในไตรมาส 1/64 ขณะที่สินเชื่อของระบบ ธ.พ. ไทยน่าจะประคองการเติบโตได้ที่ประมาณ 4.0-4.5% YoY ในไตรมาส 2/64 ชะลอลงจาก 4.6% ในไตรมาส 1/64

ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยน่าจะยังคงหดตัวลงในไตรมาส 2/64 เนื่องจากในช่วงเดียวกันปีก่อนมีการบันทึกรายการกำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมฯ ในระดับสูง ขณะที่หากเทียบกับไตรมาสก่อน (QoQ) แม้ในช่วงไตรมาส 2/64 จะไม่มีการล็อกดาวน์แต่บรรยากาศการใช้จ่ายภายในประเทศและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สะดุดลงในหลายภาคส่วนก็มีผลกระทบต่อรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมจากบัตรเครดิตซึ่งลดลงตามปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตร และค่าธรรมเนียมนายหน้า เป็นต้น

– เศรษฐกิจที่อ่อนแอลงย้ำโจทย์เร่งด่วนในการดูแลลูกค้า ควบคู่ไปกับเร่งปรับโครงสร้างหนี้เพื่อชะลอปัญหาคุณภาพหนี้ และการตั้งค่าใช้จ่ายในการกันสำรองฯ ในระดับสูงกว่าปกติ

วิกฤตโควิด-19 ในประเทศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงปลายไตรมาสที่ 2/64 เริ่มมีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของลูกหนี้มากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนจากข้อมูลลูกหนี้ที่เข้ารับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน ในเดือนพ.ค. 2564 ซึ่งขยับขึ้นมาที่ 1.89 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 2.00 ล้านล้านบาท (จาก 1.79 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดภาระหนี้ฯ 1.98 ล้านล้านบาท ในเดือนเม.ย. 64) โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ผลกระทบที่หนักและชัดเจนมากขึ้นของโควิดรอบสามอาจทำให้จำนวนบัญชีและยอดภาระหนี้ที่เข้ามาตรการช่วยเหลือฯ มีโอกาสขยับขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 3/64 นี้

หากย้อนกลับมามองที่สถานการณ์ NPLs ของระบบธนาคารพาณิชย์ แม้ยังเป็นช่วงที่ธนาคารพาณิชย์ยังได้รับอานิสงส์จากการผ่อนคลายเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ของธปท. ในกรณีที่สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างให้ลูกหนี้ แต่ด้วยความเสี่ยงเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อรายได้ของลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการในหลายๆ ธุรกิจเป็นเวลานาน ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) ของระบบธนาคารพาณิชย์มีโอกาสขยับขึ้นมาที่กรอบ 3.15-3.25% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาสที่ 2/64 จากระดับ 3.10% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 1/64 โดยยังคงต้องติดตามสัญญาณด้อยคุณภาพของสินเชื่อในพอร์ตลูกค้า SMEs และลูกค้ารายย่อย อาทิ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันอย่างใกล้ชิด

ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยทำให้ธนาคารพาณิชย์ยังต้องระมัดระวังประเด็นด้านคุณภาพของหนี้อย่างใกล้ชิด ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงไตรมาสที่ 2/64 ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งอาจตั้งสำรองฯ ในระดับที่สูงขึ้นกว่าในไตรมาสแรก และสูงกว่าระดับสำรองฯ ในสถานการณ์ปกติ ซึ่งจะส่งผลทำให้สัดส่วนการตั้งสำรองฯ ต่อสินเชื่อ (Credit Cost) อาจขยับขึ้นมาที่กรอบ 1.35-1.45% ในไตรมาส 2/2564 เทียบกับ 1.30% ไตรมาส 1/64 ขณะที่ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพน่าจะทรงตัวในระดับสูงในช่วงประมาณ 144-145%

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การประคองผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ยังเป็นโจทย์ที่ท้าทาย เพราะสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในภาพรวมยังคงขึ้นอยู่กับการสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 การเร่งจัดหาและกระจายวัคซีน ตลอดจนการเยียวยาภาคส่วนที่ถูกกระทบจากวิกฤตโควิดที่ทันต่อสถานการณ์ และสำหรับโจทย์ภารกิจเฉพาะหน้าที่สำคัญของสถาบันการเงิน น่าจะอยู่ที่การเร่งช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs และรายย่อยในพื้นที่ที่อยู่ภายใต้มาตรการควบคุมเข้มงวด 10 จังหวัด

โดยจากข้อมูลธปท. สินเชื่อ SMEs และรายย่อยใน 10 จังหวัดดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 31.9% ของสินเชื่อรวม ณ ไตรมาสที่ 1/64 ของระบบธนาคารพาณิชย์

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.ค. 64)

Tags: , ,
Back to Top