นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในงานสัมมนา “Restart เศรษฐกิจไทยฝ่าภัยโควิด” ในช่วง “เปิดแผน…เดินหน้าเศรษฐกิจไทย” ว่า ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ถือเป็นโอกาสของภาคพลังงานที่จะลงทุน ทั้งหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการรายใหญ่ อย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บมจ.ปตท. (PTT) รวมถึงบริษัทเอกชนอื่นๆ โดยเฉพาะในพลังงานสะอาด ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ และ อุตสาหกรรมกักเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่) ขณะที่ยังเป็นการช่วยเหลือชุมชนให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้
เนื่องจากประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานสะอาดในอีก 5 ปีข้างหน้าแล้ว ขณะที่เทคโนโลยีดิสรัปชั่นทำให้ภาคพลังงานของโลกมีเป้าหมายผลักดันการใช้พลังงานในรูปแบบฟอสซิลไปสู่พลังงานสีเขียวจากเชื้อเพลิงสะอาดที่มาจากพืชพลังงานหมุนเวียน เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือศูนย์เปอร์เซ็นต์
นายกุลิศ กล่าวว่า ในปี 63 ประเทศไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่อากาศและสร้างมลพิษกว่า 225 ล้านตัน แบ่งเป็นจากภาคพลังงาน 37% คิดเป็น 90 ล้านตัน รองลงมาเป็นภาคขนส่ง 29% ราว 70.6 ล้านตัน และภาคอุตสาหกรรมการผลิต 28% หรือราว 69 ล้านตัน กระทรวงพลังงานจึงถือโอกาสนี้ในการเดินหน้าลงทุนในเรื่องของการทำพลังงานสะอาด เพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน หรือ EV เพื่อให้ประเทศไทยสามารถประกาศได้ว่าเป็นประเทศที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เป็นศูนย์ ในอนาคต พร้อมกันกับหลายประเทศ
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้กำหนดนโยบายเพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ประกอบด้วย การลดใช้ไฟฟ้าจากถ่านหิน, ลงทุนกักเก็บก๊าซคาร์บอน, ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ได้จากโซลาร์ ไม่ว่าจะเป็นโซลาร์ฟาร์ม หรือโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อน ที่การไฟฟ้ามีอยู่ทั้งหมด 7 เขื่อน โดยวางเป้าหมายในอีก 5 ปีข้างหน้า จะผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ลอยน้ำประมาณ 2,700 เมกะวัตต์ และหากสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายแล้ว ก็มีแผนขยายพื้นที่การทำโซลาร์ลอยน้ำเพิ่มเติมอีก
โดยตั้งเป้ามีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 5,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะสามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนได้ในอนาคต และยังสามารถขายพลังงานสะอาดให้กับนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้านเดต้าเซ็นเตอร์ หรือคลาวด์ ตามความต้องการของนักลงทุนที่จะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดเท่านั้น
พร้อมกันนี้เมื่อประเทศต่างๆ มีการประกาศการลดการใช้คาร์บอนแล้ว ก็จะมีการคุมสินค้าส่งออกด้วย หรือมีแนวโน้มสูงที่สินค้าที่จะเข้าไปจำหน่ายในสหภาพยุโรป หรือสหรัฐ จะต้องผลิตจากพลังงานสะอาดเท่านั้น
ในวันนี้ กฟผ.และ ปตท.ก็ได้เริ่มเดินหน้าลงทุนในเรื่องของการจ้างงานผ่านนโยบายไบโอ เซอร์คูลาร์ กรีน ของรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องการนำเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้าไปช่วยชุมชน สร้างรายได้ ประหยัดเงินจากค่าไฟฟ้าต่างๆ เช่น การนำแผงโซลาร์ไปช่วยในการซูบน้ำ เพื่อใช้ในพื้นที่การเกษตร หรือตู้อบแห้งโดยใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ เพื่อจะแปรรูปสินค้าเกษตร เป็นต้น
อีกทั้ง ปตท.และ กฟผ. ยังให้การสนับสนุนโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งก็มีผู้สนใจหลายราย โดยคาดว่าจะสามารถอนุมัติได้ประมาณ 150 เมกะวัตต์ในเดือนก.ย.นี้ ขณะเดียวกันภาครัฐเองก็จะเร่งให้มีการเดินหน้าโรงไฟฟ้าขยะชุมชนด้วย
สำหรับสถานการณ์ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นในขณะนี้นั้น นายกุลิศ กล่าวว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 10 เหรียญ/บาร์เรล จากปีก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 64 เหรียญ/บาร์เรล หรือมีราคา ณ วันที่ 14 ก.ค. อยู่ที่ 74.69 เหรียญ/บาร์เรล ส่งผลให้ในประเทศ ราคาน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 29.29 บาท/ลิตร และเบนซิน เพิ่มขึ้นมาที่ 29.00 บาท/ลิตร ในส่วนนี้มีผู้ใช้น้ำมันดีเซลในประเทศไทย คิดเป็น 60% ปัจจุบันมีการใช้น้ำมันอยู่ที่ 53 ล้านลิตร/วัน ทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 61-62
หากราคาน้ำมันยังปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ทางกระทรวงพลังงานก็จะเข้าไปพยุงราคาให้อยู่ที่ 30 บาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ใช้น้ำมันดีเซลในการขนส่ง ขณะที่ราคาก๊าซ LPG ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ภาครัฐได้มีการพยุงราคาให้อยู่ที่ 318 บาท/ถัง มาตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย.63 จนถึงปัจจุบัน ต่อเนื่องไปจนถึงเดือน ก.ย.64 เพื่อเป็นการช่วยเหลือ
ด้านค่าไฟฟ้า แม้ราคาถ่านหินจะปรับตัวขึ้น แต่ราคา LPG ยังไม่สูงมากนัก ทำให้ภาพรวมค่าไฟฟ้ายังอยู่ในระดับที่ไม่สูงขึ้นมาก แต่คณะกรรมการกำกับพลังงาน (กกพ.) ได้มีการตรึงราคาค่า Ft และภาครัฐก็มีมาตรการลดค่าไฟฟ้าต่อเนื่องทั้งประเทศด้วย ขณะที่กิจการขนาดใหญ่ก็ให้การช่วยเหลือด้านค่าไฟฟ้า โดยให้จ่ายตามการใช้ไฟฟ้าจริงจนถึงสิ้นปี 64
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.ค. 64)
Tags: กระทรวงพลังงาน, กุลิศ สมบัติศิริ, พลังงานสะอาด, พลังงานไฟฟ้า