นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการนำชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) มาใช้เพื่อลดระยะเวลาของผลตรวจโดยใช้ระยะเวลาเพียง 15-30 นาทีเท่านั้น และเพื่อให้สามารถตรวจเชื้อได้เป็นจำนวนมากขึ้น รองรับจำนวนประชาชนที่มีความต้องการตรวจโควิด-19 โดยขณะนี้สถานพยาบาลของภาครัฐได้มีการใช้ชุดตรวจ ATK สำหรับผู้ที่ไม่มีอาการ หรือเป็นแค่กลุ่มเสี่ยง แต่สำหรับผู้ที่มีอาการทางเดินหายใจแนะนำให้ตรวจแบบ RT-PCR ตามเดิม
หากผลตรวจจากาการใช้ ATK เมื่อพบว่าผลเป็นบวกให้โทรติดต่อที่เบอร์ 1330 เพื่อเข้าสู่ระบบสถานบริการรัฐ เอกชน หน่วยบริการ หรือคลินิกที่เข้าร่วมกับทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้แพทย์ทำการตรวจแบบ RT-PCR อีกครั้ง หลังจากตรวจแบบ RT-PCR หากผลเป็นลบจะต้องทำการกักตัว และทำการตรวจซ้ำอีกครั้ง แต่ถ้าผลเป็นบวก แพทย์จะทำการประเมินอาการว่าอยู่ในกลุ่มสีแดง สีเหลือง หรือสีเขียว
หากมีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการจะจัดอยู่ในกลุ่มสีเขียว ซึ่งจะต้องมีการดำเนินการทำการกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือกักตัวในชุมชน (Community Isolation) แต่หากมีอาการทางเดินหายใจติดขัด จะจัดอยู่ในกลุ่มสีเหลือง หรือสีแดง ตามการวินิจฉัยของแพทย์ โดยจะต้องนำส่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ไปรักษากับทางโรงพยาบาลต่อไป
ส่วนหากตรวจ ATK แล้วผลเป็นลบ หากมีประวัติความเสี่ยงไม่สูง ไม่จำเป็นต้องกักตัว แต่ให้เฝ้าสังเกตอาการ และปฏิบัติตามมาตราการ D-M-H-T-T ส่วนผู้ที่มีประวัติความเสี่ยงสูงให้ทำการตรวจซ้ำในเวลา 3-5 วัน หรือหากมีอาการให้ตรวจซ้ำได้ทันที และทำการกักตัว
ด้านนพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ชุดตรวจ ATK ที่ได้มาตรฐานต้องผ่านการขึ้นทะเบียนจาก อย. และจะมีการเขียนข้างกล่องว่า “ใช้สำหรับประชาชนทั่วไป” โดยชุดตรวจที่ใช้ในสถานพยาบาลจะไม่ได้รับอนุญาตให้จำหน่าย ดังนั้นให้ประชาชนตรวจสอบชุดตรวจให้ดี
ก่อนหน้านี้การซื้อชุดตรวจ ATK ไปตรวจเองนั้น ถือเป็นชุดตรวจที่ยังไม่ได้รับการรับรองจากอย. โดยขณะนี้มีผู้ยื่นเอกสารแล้วทั้งหมด 5 บริษัท โดยวันนี้จะมีทั้งหมด 3 บริษัทที่ผ่านการขึ้นทะเบียน และได้รับการรับรองจากอย. ซึ่งจะสามารถจำหน่ายได้ เนื่องจากมีเอกสารครบถ้วน รวมทั้งได้มีการจัดทำเอกสารให้คำแนะนำวิธีใช้แก่ประชาชน และในวันพรุ่งนี้จะมีอีก 2 บริษัทที่ผ่านการขึ้นทะเบียน โดยคาดว่าในสัปดาห์หน้าจะมีหลายบริษัททำการขอขึ้นทะเบียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
นพ.สุรโชค กล่าวว่า ประชาชนสามารถหาซื้อชุดตรวจได้ตามโรงพยาบาล สถานพยาบาล คลินิก และร้านขายยาเท่านั้น เพื่อให้แพทย์ เจ้าหน้าที่ หรือเภสัชกรสามารถให้คำแนะนำในการตรวจได้ อย่างไรก็ตามไม่สามารถซื้อขายผ่านร้านอื่นๆ หรือผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตได้ และผู้ขายเองก็ถือว่ามีความผิด
“แนะนำว่าประชาชนทุกคนไม่มีความจำเป็นต้องซื้อชุดตรวจมาตรวจเอง หากมีอาการ หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงให้ติดต่อคลินิกชุมชนอบอุ่น และสถานอนามัยในกทม. เพื่อขอชุดตรวจแบบ ATK ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” นพ.สุรโชค กล่าว
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ผลตรวจจากชุดตรวจ ATK เป็นเพียงเครื่องมือที่มาช่วยเสริมในการตรวจโควิด-19 เนื่องจากประสิทธิภาพความแม่นยำไม่เท่าการตรวจแบบ RT-PCR ดังนั้นจึงอาจมีบางปัจจัยที่ทำให้ผลการทดสอบชุดตรวจ ATK ไม่ถูกต้อง โดยเมื่อตรวจแล้วอาจได้ “ผลบวกปลอม” คือไม่ได้ติดเชื้อแต่ให้ผลการทดสอบเป็นบวก ซึ่งอาจมาจากปัจจัยทั้งการปนเปื้อนจากพื้นที่ที่ทำการทดสอบ หรืออุปกรณ์ที่ใช้, การติดเชื้อไวรัส หรือจุลชีพอื่นๆ หรือมีการดำเนินการตามขั้นตอนวิธีทดสอบไม่ถูกต้อง เช่นอ่านผลเกินเวลาที่กำหนด และสภาพสิ่งส่งตรวจไม่เหมาะสม เป็นต้น
ส่วน “ผลลบปลอม” คือเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่ให้ผลการทดสอบเป็นลบ ซึ่งอาจมาจากปัจจัยทั้งเพิ่งติดเชื้อในระยะแรกมีปริมาณไวรัสต่ำ, การเก็บสิ่งส่งตรวจไม่ถูกต้อง หรือมีการดำเนินการตามขั้นตอนวิธีทดสอบไม่ถูกต้อง เช่นไม่อ่านผลในช่วงเวลาที่กำหนด และปริมาณตัวอย่างที่หยดไม่เป็นไปตามที่กำหนด เป็นต้น
นอกจากนี้ยังแนะนำวิธีการใช้ชุดตรวจ ATK เพื่อให้ผลออกมาไม่คลาดเคลื่อนมากที่สุด คือให้ตรวจในสถานที่ที่มีคนจำนวนน้อย และให้ทำความสะอาดบริเวณที่จะใช้ตรวจก่อน เพื่อลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนของเชื้อ ทั้งนี้เมื่อหยดสารลงไปบนตลับทดสอบแล้ว จะต้องสังเกตเสมอว่ามีเส้นขึ้นที่ตัว C ซึ่งแสดงว่าชุดตรวจนี้สามารถใช้ได้ หากไม่มีเส้นที่ตัว C จะต้องใช้ชุดตรวจชุดใหม่ โดยวิธีอ่านผลการตรวจ คือหากเส้นขึ้นทั้งตัว C และตัว T แสดงว่าผลเป็นบวก หรือติดเชื้อ แต่ถ้าเส้นขึ้นเฉพาะตัว C เท่านั้นแสดงว่าผลเป็นลบ หรือไม่ติดเชื้อ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.ค. 64)
Tags: Antigen Test Kit, กระทรวงสาธารณสุข, ชุดตรวจโควิด, ธงชัย กีรติหัตถยากร, สุรโชค ต่างวิวัฒน์