ข่าวเศรษฐกิจ
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กระทบไปยังภาคอุตสาหกรรมต่างๆของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาการ อุตสาหกรรมยานยนต์ และอื่นๆ ส่งผลให้การผลิตสินค้าของอุตสาหกรรมทำได้ไม่เต็มที่ ซึ่งคาดว่าจะมีผลกระทบกับตัวเลขการส่งออกที่อาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
แต่อย่างไรก็ตามทาง ส.อ.ท. อยู่ระหว่างเจรจา และมองหาแนวทางการหาวิคซีนโควิด-19 ที่จะนำมากระจายให้กับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่มีมากกว่า 10,000 โรงงาน และมีจำนวนแรงงานมากกว่า 5-6 ล้านคน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วสัดส่วนเพียง 10% ถือว่าต่ำมาก
“เรามองว่าทิศทางตัวเลขการการส่งออกของประเทศไทยอาจจะต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ด้วยผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กระทบไปยังโรงงานต่างๆ ทำให้ไม่สามารถใช้กำลังการผลิตได้เต็มที่ แต่อย่างไรก็ตามการส่งออกเติบโตได้แน่นอน ด้วยภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว และภาคส่งออกของไทยยังสามารถทำได้ดี”
นายสุพันธุ์ กล่าว
ทั้งนี้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยที่มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อสูงขึ้นเกือบวันละ 10,000 คน และมีผู้เสียชีวิตเกือบวันละ 100 คน ส.อ.ท. จึงได้จัดตั้งคณะทำงานช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 อย่างเร่งด่วน แบ่งออกเป็น 5 คณะ ดังนี้
1) คณะทำงานด้านข้อมูลโควิด มีหน้าที่จัดการให้ความรู้คู่มือการใช้ Rapid Test, แนวการปฏิบัติตัวในช่วงโควิดและหลังโควิด ผ่านระบบ e-Learning และจัดทำคู่มือการปลูกและแจกเมล็ดพันธุ์ฟ้าทะลายโจร
2) คณะทำงานจัดหาชุด Rapid test และจัดทำห้องความดันลบ มีหน้าที่ดำเนินการจัดหาชุด Rapid test & Product และจัดทำห้องความดันลบ เบื้องต้นในสัปดาห์หนาจะสามารถจัดหาได้ไม่ต่ำกว่า 50,000 ชิ้น และจะมีการต่อรองเพื่อกำหนดราคาซื้อไม่เกิด 200 บาท ซึ่งหากโรงงานไหนจำเป็นต้องใช้ก็สามารถขอเข้ามาทาง ส.อ.ท. ได้ทันที
3) คณะทำงาน Call Center และประสานงาน ทำหน้าที่ประสานงานรับเรื่องการตรวจโควิด-19 ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร และให้ข้อมูลที่ถูกต้องในการช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19
4) คณะทำงานระบบแจ้งเตือนผู้มีความเสี่ยงโควิด ทำหน้าที่ผลักดันต่อกรมควบคุมโรคเพื่อให้ภาคราชการ เอกชน ประชาชนได้ใช้ระบบ Exposure Notification Express (ENX) ในการติดตามและแจ้งเตือนเมื่อใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยง โดยมีนายสมโภชน์ อาหุนัย รองประธาน ส.อ.ท. เป็นประธานคณะทำงานฯ
5) คณะทำงานรับบริจาคช่วยเหลือ ทำหน้าที่เปิดรับบริจาคหาเงินช่วยเหลือในการดำเนินโครงการจัดทำห้องความดันลบ การจัดซื้อชุด Rapid test และการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม
สำหรับมาตรการเยียวยา ส.อ.ท. ได้ร่วมกับสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือภาคธุรกิจและภาคประชาชน ที่กำลังประสบปัญหาวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยผลักดันโครงการ Faster Payment ให้บริษัทที่เข้าร่วมโครงการจะลดระยะเวลา Credit term ให้แก่คู่ค้าของบริษัทโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ในระยะเวลา 30 วันต่อไปจนถึงสิ้นปี ความร่วมมือกันในการจัดทำสินเชื่อ Supply Chain Factoring เพื่อช่วย SMEs โดยจะหารือร่วมกับสถาบันการเงินเพื่อให้เกิดขึ้นให้ได้อย่างรวดเร็ว
รวมถึงแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศด้วยการสนับสนุนสินค้าที่ได้ขึ้นทะเบียน Made in Thailand แล้ว” รวมถึงเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันความเสียหายผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมเป็นร้อยละ 50 เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาในช่วงนี้ได้มากขึ้น และขอให้ผู้ประกอบการที่เป็นลูกหนี้สถาบันการเงินที่เข้าเกณฑ์ NPL ที่เกิดขึ้นในช่วงโควิดจนถึง 3 ปี นับจากสิ้นสุดช่วงโควิด ไม่มีประวัติข้อมูลที่บ่งบอกถึงประวัติการชำระหนี้หรือสินเชื่อใน Credit Bureau
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.ค. 64)
Tags:
ส.อ.ท.,
ส่งออก,
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย,
สมโภชน์ อาหุนัย,
สุพันธุ์ มงคลสุธี,
อุตสาหกรรม,
เยียวยาโควิด