ผลการวิจัยล่าสุดจาก Mintel Sustainability Barometer เผยผู้บริโภคทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะมองว่าประเทศของตนเองกำลังได้รับผลกระทบจากปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงมากกว่าที่จะมองว่าประเทศของตนเป็นต้นตอของปัญหา
ในขณะที่ผู้บริโภคทั่วโลกเฉลี่ย 44% มองว่าประเทศที่ตนเองอาศัยอยู่กำลังได้รับผลกระทบจากปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และผู้บริโภคเฉลี่ย 33% เชื่อว่า ประเทศที่ตนเองอาศัยอยู่มีส่วนที่ทำให้เกิดสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
ผู้บริโภคจากประเทศอิตาลี (20%), บราซิล (21%), เกาหลีใต้ (24%) และสเปน (29%) จัดเป็นกลุ่มประเทศที่มีความเชื่อว่า ประเทศของตนเองมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศน้อยที่สุด ในทางกลับกันผู้บริโภคจากสหราชอาณาจักร (44%), เยอรมนี (45%) และสหรัฐอเมริกา (46%) เป็นกลุ่มประเทศที่ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่าประเทศของตนมีบทบาทสำคัญที่จะสามารถจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น โดยสัดส่วนที่สูงสุดคือผู้บริโภคชาวแคนาดาเกินกว่าครึ่งหรือ 51% เชื่อเช่นนั้น
ริชาร์ด โคป (Richard Cope) ที่ปรึกษาอาวุโสจากทีม Mintel Consulting กล่าวว่า “ดูเหมือนว่าจะยังมีช่องว่างในเรื่องความเข้าใจที่มีต่อประเด็นความยั่งยืน โดยมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดระหว่างวิถีการบริโภคของผู้บริโภคที่มาพร้อมกับต้นเหตุของปัญหาสภาพภูมิอากาศกับความเป็นจริงที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ทุกคนควรรับรู้ เราเห็นว่ามีความคิดที่แตกต่างกันไปในประเทศผู้ผลิตรายใหญ่มากมาย เช่น ผู้บริโภคในประเทศบราซิลที่มองว่า ความรับผิดชอบต่อปัญหาสภาพภูมิอากาศจากการตัดไม้ทำลายป่าเป็นปัญหาที่เกิดจากปัจจัยภายนอกอันเนื่องมาจากความต้องการรับประทานเนื้อสัตว์และถั่วเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงการใช้ไม้ซุงที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า และในกรณีของผู้บริโภคในยุโรป หากมองความเป็นจริงแล้ว ประเทศเหล่านี้กลับเป็นผู้ปล่อยมลพิษแล้วโยนความรับผิดชอบไปยังกลุ่มประเทศผู้ผลิต เช่น ประเทศจีน และดูเหมือนว่าความคิดดังกล่าวจะถูกกลืนหายไปในตัวผู้บริโภค เมื่อถึงเวลาที่ผู้บริโภคเหล่านี้ได้พิจารณา ก็จะมีการกล่าวโทษในเรื่องความรับผิดชอบที่มีต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศไปยังผู้ผลิตเสียมากกว่า”
“อีกหนึ่งความท้าทายที่ยิ่งใหญ่สำหรับบริษัทและแบรนด์ต่าง ๆ ก็คือ การสร้างความเข้าใจในเรื่องความยั่งยืนให้กับผู้บริโภค เพื่อที่บริษัทและแบรนด์จะได้วางจุดยืนของผลิตภัณฑ์หรือบริการได้ดีกว่าเดิม ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการหาทางออกให้กับการดำเนินการเพื่อความยั่งยืน ปัจจุบันมีผู้บริโภคจำนวนมากยิ่งขึ้นที่ติดใจกับเรื่องความยั่งยืนและผลิตภัณฑ์รักษ์โลก ดังนั้น การสื่อสารและอธิบายความเป็นมาของปัญหา ตลอดจนความท้าทายทางธุรกิจที่บริษัทต้องเผชิญแก่ผู้บริโภคจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับบริษัทต่างๆ นอกจากนี้ การขยับขึ้นเป็นผู้นำในการสร้างความมั่นใจเชิงบวกที่มีต่อผลิตภัณฑ์หรือบริการก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นต่อที่ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคม และที่นอกเหนือไปจากนั้นอาจเป็นการผนึกกำลังกับภาครัฐผ่านข้อความและแคมเปญที่น่าติดตาม ก็จะสามารถช่วยสร้างผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ หรือแม้แต่การเปิดรับฟังแนวคิดในสารคดีที่มีเนื้อหาปลุกจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม เช่น Seaspiracy และ Kiss the Ground ก็สามารถช่วยได้เช่นกัน”
เมื่อมาถึงคำถามที่ว่า ใครคือผู้ที่ควรจะรับผิดชอบปัญหาเกี่ยวกับความยั่งยืนมากที่สุด ผู้บริโภคต่างบอกว่าบริษัทควรจะรับผิดชอบปัญหาต่าง ๆ นานาที่เกิดขึ้นมากที่สุด โดยผู้บริโภคทั่วโลกเกือบครึ่ง (48%) เชื่อว่า บริษัทต่าง ๆ ควรที่จะรับผิดชอบเรื่องจำนวนบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้นและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ขณะที่ 1 ใน 4 (25%) เชื่อว่าความรับผิดชอบเป็นของผู้บริโภค และเพียง 1 ใน 5 (20%) ที่เห็นว่าภาครัฐควรจะรับผิดชอบ ในขณะเดียวกัน 2 ใน 5 ของผู้บริโภคทั่วโลก (41%) เชื่อว่าบริษัทต่าง ๆ ควรรับผิดชอบในการลดปริมาณการปล่อยมลพิษจากการขนส่งทางอากาศ ในขณะที่ผู้บริโภค 36% เชื่อว่าควรเป็นมาตรการจากภาครัฐและมีเพียง 12% ที่คิดว่าเป็นความรับผิดชอบของผู้บริโภคเอง
จากข้อมูลของผู้บริโภคทั่วโลก บริษัทขนส่งผู้โดยสาร (เช่น สายการบิน บริษัทแท็กซี่ และรถไฟ) ถือเป็นผู้ที่ควรรับผิดชอบการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมมากที่สุด (44%), รองลงมาคือผู้ผลิตสินค้าใช้งานภายในครัวเรือน (39%) และผู้ผลิตเนื้อสัตว์/ปลาบรรจุหีบห่อ (35%)
สำหรับปัจจัยที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคอยากซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการที่อ้างว่ามีประโยชน์หรือช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมนั้น ผู้บริโภคมักจะมองหาข้อมูลที่ว่าการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าของตนเองจะก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงอย่างไรบ้าง เช่น การปลูกต้นไม้หนึ่งต้นต่อการซื้อหนึ่งครั้ง (48%) โดยผู้บริโภคยังมองหาฉลากที่ระบุถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา (47%) หรือแม้แต่ 2 ใน 5 (42%) ของผู้บริโภคที่หาข้อมูลการใช้ระบบวัดผลกระทบที่เข้าใจง่าย เช่น ปริมาณลิตรของน้ำที่ใช้หรือระยะการเดินทางเป็นกิโลเมตร ในขณะที่ 41% ของผู้บริโภคมองหาใบรับรองที่เป็นที่ยอมรับเพื่อเป็นการพิสูจน์มาตรฐานผลิตภัณฑ์ เช่น B-corp*
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.ค. 64)
Tags: Mintel, ริชาร์ด โคป, วิจัย, สิ่งแวดล้อม, โลกร้อน