นพ.วิทูรย์ อนันกุล ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาการขาดแคลนเตียงในกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เนื่องจากพบจำนวนผู้ติดเชื้อในกทม. สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในกทม. มีเตียงผู้ป่วยสีแดงเหลือว่างเพียงประมาณ 10% เตียงสีเหลืองเหลือประมาณ 10% และเตียงสีเขียวเหลือประมาณ 20% ดังนั้นจึงออกแนวทางการแก้ไขปัญหาเตียงขาดแคลน โดยเร่งเพิ่มขีดความสามารถเตียงสีแดง และปรับเตียงสีเขียวให้เป็นเตียงสีเหลือง เพื่อให้สามารถรองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น
พร้อมทั้งมีการนำแนวทางการกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือในสถานที่อื่นๆ (Community Isolation) มาใช้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม จำนวนเตียงในต่างจังหวัดยังคงมีเพียงพอ โดยมีเตียงสีแดงอยู่ที่ประมาณ 30% ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่เดินทางกลับไปรักษาที่ภูมิลำเนาได้
สำหรับจำนวนเตียงใน กทม. เตียงผู้ป่วยสีแดงที่เหลืออยู่ในขณะนี้ แบ่งเป็น ห้องแยกผู้ป่วยแพร่กระจายเชื้อทางอากาศ (AIIR) เหลือ 14% หรือ 31 เตียง, ห้องแยกโรคความดันลบ (Modified AIIR) เหลือ 9% หรือ 49 เตียง และหอผู้ป่วยวิกฤติ (Cohort ICU) เหลือ 11% หรือ 37 เตียง โดยในส่วนปัญหาการขาดแคลนเตียงสีแดง ขณะนี้ได้มีการพูดคุยกับทั้งรัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการบริหารปรับเพิ่มเตียงในส่วนนี้ให้มากที่สุด นอกจากนี้ ยังต้องมีการบริหารจำนวนแพทย์ที่จะมาดูแลผู้ป่วยในกลุ่มเตียงสีแดง โดยการให้แพทย์ทำหน้าที่หมุนเวียนทั้งแพทย์จบใหม่ และแพทย์กำลังเสริมจากต่างจังหวัด
“ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องใช้เตียงสีแดงส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ดังนั้นแนะนำให้ทั้ง 2 กลุ่มนี้ รวมถึงผู้ที่กำลังตั้งครรภ์มารับวัคซีนโดยเร็ว และครอบคลุมมากที่สุด เพื่อลดอาการป่วยหนัก และการเสียชีวิต” นพ.วิทูรย์ กล่าว
ส่วนเตียงผู้ป่วยสีเหลืองขณะนี้เหลือ Cohort โรงพยาบาล 6% หรือ 415 เตียง และ Isolate Room 13% หรือ 449 เตียง สำหรับเตียงผู้ป่วยสีเขียวขณะนี้เหลือ Cohort โรงพยาบาลสนาม 20% หรือ 500 เตียง และ Hospitel 24% หรือ 4,201 เตียง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการปรับใช้เตียงผู้ป่วยสีเขียวให้สามารถรองรับเตียงผู้ป่วยสีเหลืองได้มากขึ้น
ด้านจำนวนเตียงทั่วประเทศ ยกเว้นกทม. เตียงผู้ป่วยสีแดงที่เหลืออยู่ในขณะนี้ แบ่งเป็น AIIR เหลือ 29% หรือ 140 เตียง, Modified AIIR เหลือ 29% หรือ 645 เตียง และ Cohort ICU เหลือ 31% หรือ 267 เตียง ส่วนเตียงผู้ป่วยสีเหลืองขณะนี้เหลือ Cohort โรงพยาบาล 18% หรือ 5,449 เตียง และ Isolate Room 25% หรือ 3,752 เตียง และเตียงผู้ป่วยสีเขียวขณะนี้เหลือ Cohort โรงพยาบาลสนาม 42% หรือ 11,423 เตียง และ Hospitel 38% หรือ 5,116 เตียง
สำหรับปัญหาการขาดแคลนออกซิเจนในประเทศไทย มองว่าจะไม่ประสบปัญหาขาดแคลนอย่างแน่นอน เนื่องจากในประเทศไทยมีผู้ผลิตออกซิเจนหลายราย และคาดว่าหลายบริษัทสามารถเปลี่ยนมาผลิตออกซิเจนสำหรับใช้ทางการแพทย์ได้ อย่างไรก็ตามขณะนี้อยู่ระหว่างการจับตาปัญหาขาดแคลนถังออกซิเจน เพื่อให้สามารถบริหารจำนวนถังให้เพียงพอ พร้อมรองรับการกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือในสถานที่อื่นๆ (Community Isolation) สธ. ยันยาฟาวิพิราเวียร์มีเพียงพอตามแผนจัดซื้อ 21 ล้านเม็ด ก.ค.-ก.ย.
ด้าน นพ.กรกฤช ลิ้มสมมุติ ผู้อำนวยการกองบริหารการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การบริหารจัดการทรัพยากรด้านเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ในสถานการณ์โควิด-19 ยังสามารถจัดการได้ดี โดยปัญหาการขาดแคลนยาฟาวิพิราเวียร์นั้นไม่เป็นความจริง และยังคงมียาเพียงพอสำหรับการใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ โดยในเดือนก.ค. จะมีการนำเข้ารวมทั้งหมด 16 ล้านเม็ด อย่างไรก็ตามมีการขาดแคลนถุงขาสำหรับชุดป้องกันของบุคลากรแพทย์บ้าง แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการสั่งซื้อ และนำเข้าจากต่างประเทศ
สถานการณ์ยาคงเหลือในวันที่ 13 ก.ค. มีจำนวนยาฟาวิพิราเวียร์ 200 mg ทั้งหมด 4,017,781 เม็ด แบ่งเป็น องค์การเภสัชกรรม 2,170,782 เม็ด, สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 1,015,284 เม็ด, กรมการแพทย์ 801,567 เม็ด และกรมควบคุมโรค 30,148 เม็ด ด้านยา Remdesivir 100 mg มีเหลืออยู่ที่องค์การเภสัชกรรม 1,613 ขวด
ทั้งนี้ มีแผนการส่งมอบยาฟาวิพิราเวียร์ 200 mg จำนวนทั้งหมด 21 ล้านเม็ด โดยมีการจัดซื้อในเดือนก.ค. รวมจำนวน 16 ล้านเม็ด แบ่งเป็นในวันที่ 17 ก.ค. จะนำเข้ามา 3.5 ล้านเม็ด, วันที่ 20 ก.ค. จะนำเข้า 3.1 ล้านเม็ด, วันที่ 23 ก.ค. จะนำเข้า 5.5 ล้านเม็ด และวันที่ 27 ก.ค. จะนำเข้ามาอีก 4 ล้านเม็ด ส่วนช่วงปลายเดือนส.ค. จะนำเข้ามา 2 ล้านเม็ด และในช่วงปลายเดือนก.ย. จะนำเข้ามาอีกจำนวน 2 ล้านเม็ด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ค. 64)
Tags: Home Isolation, กรกฤช ลิ้มสมมุติ, ฟาวิพิราเวียร์, วิทูรย์ อนันกุล, เตียงผู้ป่วย