บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ในไตรมาส 2/64 กองทุนรวมไทย (เฉพาะกองทุนเปิด ไม่รวมกองทุนปิด, ETF, REIT, Infrastructure fund) มีมูลค่าทรัพย์สินรวม (AUM) 4.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.7% จากไตรมาสแรก และเพิ่มขึ้น 5.4% จากเดือน ธ.ค.63 จากการเพิ่มขึ้นนี้ทำให้มูลค่าทรัพย์สินเข้าใกล้ระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 ที่ 4.3 ล้านล้านบาท หรือต่างกันราว 1 แสนล้านบาท โดยในรอบครี่งปีแรกมีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 9.3 หมื่นล้านบาท
กองทุนรวมตราสารทุนมีมูลค่าทรัพย์สินรวม 1.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% จากไตรมาสก่อนหน้า หรือสูงกว่าเดือน ธ.ค.63 ราว 20% โดยในไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลเข้ากองทุนรวมตราสารทุน 2.9 หมื่นล้านบาท รวมครึ่งปีแรกเงินไหลเข้าสุทธิราว 1.6 แสนล้านบาท ด้านกองทุนรวมตราสารหนี้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.4% จากไตรมาสแรก โดยในไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลเข้าสุทธิ 6.6 หมื่นล้านบาท แต่ในไตรมาสแรกเป็นเงินไหลออกเกือบ 3 หมื่นล้านบาท ทำให้ในรอบครึ่งปีแรกเป็นเงินไหลเข้าสุทธิ 3.6 หมื่นล้านบาท
“จากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของมูลค่าทรัพย์สินกองทุนตราสารทุน ทำให้มีมูลค่าใกล้เคียงกับกองทุนรวมตราสารหนี้ หรือมีส่วนต่างราว 6 หมื่นล้านบาท ประกอบกับผู้ลงทุนยังให้ความสนใจการลงทุนตราสารทุน โดยเฉพาะกองทุนหุ้นต่างประเทศอาจทำให้กองทุนตราสารทุนเป็นสัดส่วนหลักของอุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยได้ภายในปีนี้”
กองทุนรวมหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large-Cap) มีมูลค่าทรัพย์สินลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า 3.4% แต่เพิ่มขึ้นจากเดือน มิ.ย.63 ที่ 2.9% โดยในไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลออกสุทธิ 6.1 พันล้านบาท รวมครึ่งปีแรกเงินไหลออกจากกลุ่มนี้ 2.5 หมื่นล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินล่าสุดสูงเป็นอันดับสองที่ 6.4 แสนล้านบาท หรือต่ากว่ากองทุน Money Market เล็กน้อย
ขณะเดียวกันกองทุนหุ้นขนาดกลาง-เล็ก (Equity Small/Mid-Cap) มีมูลค่าทรัพย์สิน 5.3 หมื่นล้านบาท (อันดับที่ 17 ของอุตสาหกรรม) แม้จะมีผลตอบแทนที่ดีกว่ากองทุนหุ้นขนาดใหญ่ค่อนข้างมาก แต่ก็มีทิศทางเงินไหลออกเช่นกัน โดยในไตรมาสล่าสุดมีเงินไหลออกเล็กน้อยราว 17 ล้านบาท รวม 6 เดือนไหลออกสุทธิ 1.8 พันล้านบาท
กองทุนกลุ่ม Short Term Bond มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 7% จากไตรมาสก่อนหน้าและ 20% จากไตรมาส 2 ของปีที่แล้ว มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 5.7 แสนล้านบาท หรือใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดที่ 5.8 แสนล้านบาท ในไตรมาสล่าสุดมีทิศทางกลับมาเป็นเงินไหลเข้าสุทธิและสูงสุดในไตรมาสที่สองรวม 3.5 หมื่นล้านบาท หลังจากมีเงินไหลออก 6.4 พันล้านบาทในไตรมาสแรก รวมครึ่งปีเป็นเงินไหลเข้าสูงเป็นอันดับที่ 5 รวม 2.9 หมื่นล้านบาท กองทุน K SF Plus เป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดของกลุ่มที่มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท และมีเม็ดเงินไหลเข้าสูงสุดที่ 2.0 หมื่นล้านบาท
กองทุนกลุ่ม China Equity และ Global Equity เติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 15.2% และ 14.4% ตามลำดับ แต่เงินไหลเข้ามีการชะลอตัวลงในไตรมาสล่าสุด กองทุนหุ้นจีนมีเงินไหลเข้า 1.6 หมื่นล้านบาท จากไตรมาสแรกมีเงินไหลเข้ากว่า 5 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับกองทุนหุ้นทั่วโลกมีเงินไหลเข้าสุทธิ 7.6 พันล้านบาทเทียบกับไตรมาสแรกที่มีเงินไหลเข้ากว่า 4 หมื่นล้านบาท โดยรวม 2 กลุ่มนี้ยังคงเป็นกลุ่มที่มีเงินไหลเข้าสูงสุดรอบครึ่งปีที่ 7.1 และ 5.1 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ค. 64)
Tags: AUM, กองทุนรวม, ตราสารทุน, มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช