หมอบุญ แย้มรพ.เอกชนเจรจาองค์กรรัฐนำเข้าวัคซีนทางเลือกอีก 2 ยี่ห้อเดือนนี้

นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) กล่าวให้สัมภาษณ์กับรายการโทรทัศน์เช้านี้ว่า ขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนได้จับมือกับสถาบันและกลุ่มบางกลุ่มเพื่อนำเข้าวัคซีนต้านโควิด-19 เพิ่มเติม 2 ชนิด คือ ไบโอเอนเทคของเยอรมนี ชนิด mRNA ตัวเดียวกับไฟเซอร์ และโนวาแวกซ์ของสหรัฐ คาดว่าจะสั่งซื้อเข้ามาจำนวน 20 ล้านโดส โดยส่วนราคานำเข้าวัคซีนต่อโดสที่รวมต้นทุนค่าจัดเก็บ และค่าขนส่งแล้วอยู่ที่ประมาณ 900 บาท/โดส แต่ยังต้องมีค่าภาษีอีกส่วนหนึ่ง

“ความร่วมมือในครั้งนี้เดิมมีการติดต่อกับทางโรงเรียนแพทย์ แต่ทางโรงเรียนแพทย์ได้ขอถอนตัวไป ขณะนี้จึงจับมือร่วมกับองค์กรของรัฐขนาดใหญ่ที่มีสิทธินำเข้าวัคซีนเหมือนราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หากสามารถดีลวัคซีนได้สำเร็จ คาดว่าจะสามารถนำเข้ามาได้ภายในเดือนนี้ เนื่องจากมีการติดต่อมาตั้งแต่ ต.ค.63 แล้ว”

นพ.บุญ กล่าว

นพ.บุญ เปิดเผยว่า บริษัทได้มีการเจรจากับหน่วยงานภาครัฐที่จะสามารถเป็นตัวกลางในการนำเข้าวัคซีนทางเลือกยี่ห้ออื่นๆที่ใช้เทคโนโลยี mRNA แบบเดียวกับไฟเซอร์และโมเดอร์นา เพื่อมาให้บริการกับประชาชนและลูกค้าของเครือโรงพยาบาลธนบุรี ซึ่งในวันนี้ตัวแทนของโรงพยาบาลเข้าไปเจรจากับหน่วยงานรัฐเพื่อขอความร่วมมือให้เป็นตัวกลางนำเข้าวัคซีนเข้ามา หลังจากโรงพยาบาลได้ติดต่อกับตัวแทนจำหน่ายไว้แล้ว ซึ่งเป็นวัคซีนของไบโอเอนเทคของเยอรมนีและโนวาแวกซ์ ของสหรัฐฯ

เบื้องต้นหากทางหน่วยงานภาครัฐที่มีอำนาจเป็นตัวกลางในการนำเข้าวัคซีนได้ตกลงร่วมกับทางโรงพยาบาลธนบุรี คาดว่าทางตัวแทนจำหน่ายจะสามาถส่งมอบวัคซีนทั้ง 2 ยี่ห้อให้กับทางโรงพยาบาลล็อตแรก 20 ล้านโดสอย่างเร็วที่สุดในช่วงสิ้นเดือน ก.ค. 64 หรือต้นเดือนส.ค. 64 แบ่งเป็นวัคซีนจากไบโอเอนเทค 10 ล้านโดส และโนวาแวกซ์ 10 ล้านโดส จากจำนวนทั้งหมดที่ทางโรงพยาบาลธนบุรีเจรจาไว้ 40 ล้านโดส โดยโรงพยาบาลธนบุรีจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการสั่งซื้อและนำเข้าวัคซีนทั้งหมดเอง ซึ่งต้นทุนวัคซีนทั้ง 2 ยี่ห้ออยู่ที่ประมาณ 500-600 บาท/โดส ยังไม่รวมค่าขนส่ง และภาษีต่างๆ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวัคซีนดังกล่าวจะยังไม่ได้รับการอนุมัติขึ้นทะเบียนกับทางองค์การอาหารและยา (อย.) แต่ทางโรงพยาบาลเชื่อว่าทาง อย.จะพิจารณาอนุมัติขึ้นทะเบียนในเร็วๆ นี้ก่อนที่จะเริ่มส่งมอบวัคซีน โดยที่ทางโรงพยาบาลเชื่อมั่นว่าการที่มีวัคซีนทางเลือกเข้ามามากขึ้นจะทำให้สามารถช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชน และทำให้ประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ได้อย่างเร็วที่สุด

“รอบนี้ทางโรงพยาบาลธนบุรีเป็นคนสั่งเอง ซึ่งวันนี้ผมก็ให้น้องชายไปคุยกับหน่วยงานภาครัฐที่สามารถเป็นตัวกลางในการนำเข้าวัคซีนทางเลือก เหมือนกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้ ซึ่งถ้าเขาตกลงกับเราก็พร้อมนำวัคซีนทั้ง 2 ยี่ห้อได้ล็อตแรกสิ้นเดือน ก.ค.หรือต้นส.ค.นี้ ทั้งหมด 20 ล้านโดส ค่าใช้จ่ายในการสั่งซื้อเราเป็นคนออกเองทั้งหมด และเราก็ติดต่อกับตัวแทนจำหน่ายที่จะนำเจ้ามาไว้แล้ว”

นพ.บุญ กล่าว

สำหรับการปรับการฉีดวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุขที่ออกมาล่าสุดให้ฉีดซิโนแวค 1 เข็ม และตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม จากเดิมที่ให้ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม มีความเห็นด้วยกับการปรับเปลี่ยนการฉีดวัคซีนดังกล่าวใหม่ เพราะจากงานวิจัยที่ออกมาการฉีดฉีดซิโนแวค 1 เข็ม และแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม สามารถสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ได้สูง เทียบเท่าการฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ทำให้สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนได้เร็วมากขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ก.ค. 64)

Tags: , , , , , , , , , ,
Back to Top