นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า มีข้อมูลใหม่ที่ต้องจับตาคือ การพบการติดเชื้อในคนเดียวกัน 2 สายพันธุ์ คือทั้งสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) และสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) ซึ่งเป็นการตรวจพบจากแคมป์คนงานก่อสร้างขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยมีแรงงาน 7 คน ใน 200 กว่าคน ที่ตรวจพบว่ามีการติดเชื้อในคนเดียวกันถึง 2 สายพันธุ์
“มีการตรวจแคมป์คนงานก่อสร้างขนาดใหญ่ในกทม. พบว่าเป็นการติดเชื้อแบบผสม หรือ mix infection คือในตัวคนๆ เดียวตรวจพบ 2 สายพันธุ์ พบ 7 ราย จาก 200 กว่าราย มีสัญญาณที่บอกว่า ถ้าปล่อยให้มีแบบนี้เยอะๆ อาจจะเกิดลูกผสม Hybrid และเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาได้” นพ.ศุภกิจกล่าว
อย่างไรก็ดี จากการติดตามอาการของผู้ป่วย 7 รายดังกล่าว ยังปกติดี ไม่มีอาการรุนแรงใดๆ ซึ่งการตรวจพบไวรัส 2 สายพันธุ์ในคนเดียวกันนี้ ยังไม่ได้หมายความว่าจะทำให้อาการของโรคมีความรุนแรงมากขึ้น เพียงแต่ต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลขอให้ประชาชนลดการเดินทาง และเข้มงวดกับมาตรการต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องถูกต้อง เพื่อช่วยลดโอกาสที่อาจจะเกิด mix infection ขึ้นได้ ทั้งนี้ การติดเชื้อแบบผสม ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่พบในประเทศอื่นด้วย
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้มีการติดตามกรณีการติดเชื้อของแรงงานไทยรายหนึ่งที่บึงกาฬ ซึ่งเดินทางกลับมาจากไต้หวัน แต่ในระหว่างที่กักตัวใน State Quarantine ไม่พบว่ามีการติดเชื้อโควิดแต่อย่างใด และเมื่อเดินทางกลับบ้าน มีอาการป่วย จึงไปตรวจหาเชื้อและพบว่าติดโควิดสายพันธุ์เบต้า ซึ่งเมื่อมีการถอดรหัสพันธุกรรมเทียบที่ไต้หวัน และที่ภาคใต้ของไทย กลับพบว่าไม่ได้มาจากทั้ง 2 แหล่ง
“กรณีนี้ต้องไปไล่ดู ได้แจ้งไปที่กรมควบคุมโรคแล้ว ต้องสอบสวนคนใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายนี้ และอยู่ในขั้นตอนการตรวจคนใกล้ชิด แต่สายพันธุ์เบต้าจะแพร่ไม่เร็ว และกระจุกตัวในภาคใต้เป็นส่วนใหญ่” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าว
พร้อมระบุว่า ในการเฝ้าระวังการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ต่างๆ ตั้งแต่เม.ย. 64 เป็นต้นมา ได้ตรวจรหัสพันธุกรรมแล้ว 15,000 ตัวอย่าง ซึ่งส่วนมากเป็นสายพันธุ์อัลฟา 74% สายพันธุ์เดลต้า 24 และสายพันธุ์เบต้า 1.7% แต่สัปดาห์ที่ผ่านมา สายพันธุ์เดลต้า เพิ่มขึ้นเป็น 57% ในกทม. ส่วนภูมิภาคอยู่ที่ 23% โดยภาพรวมทั้งประเทศ เป็นสายพันธุ์เดลต้า 46% ถือว่าเกือบครึ่ง ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลให้ต้องปรับแนวทางการฉีดวัคซีนให้สอดคล้องกับการกลายพันธุ์ของไวรัส
“เดลต้า ตอนนี้เบียดอัลฟ่าขึ้นมาเรื่อยๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมถึงภาพรวมประเทศ ส่วนสายพันธุ์เดลต้า พบในกรุงเทพฯ และอีก 60 จังหวัด เป็นที่น่าสังเกตว่าเดลต้าเริ่มลงไปภาคใต้ เช่น สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต นราธิวาส ตรัง สงขลา พัทลุง สตูล
สัปดาห์นี้ พบเยอะที่อุดรธานี 40 กว่าคน นครสวรรค์ 40 กว่าคน ชลบุรี 32 คน กำแพงเพชร 14 คน เป็นต้น และคาดว่าอีกไม่น่านจะกินพื้นที่ประเทศไทยทั้งหมด” นพ.ศุภกิจกล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ก.ค. 64)
Tags: COVID-19, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, ศุภกิจ ศิริลักษณ์, แคมป์ก่อสร้าง, โควิด-19, โควิดสายพันธุ์อัลฟา, โควิดสายพันธุ์เดลตา