นางบุษยา สถิรพิพัฒน์กุล ผู้บริหารหน่วยธุรกิจดูแลลูกค้าและสิทธิประโยชน์ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า นโยบายของเอไอเอส นอกจากเดินหน้าพัฒนาบริการดิจิทัลอย่างดีที่สุดแล้ว การร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคมก็เป็นหน้าที่หลักในการบรรเทาความเดือดร้อนของทุกภาคส่วนเท่าที่จะทำได้ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ดำเนินมากว่า 1 ปี และสร้างผลกระทบให้แก่ทุกคน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มร้านค้ารายเล็ก ไปจนถึง ร้านอาหารตามสั่ง, แผงผัก ผลไม้ฯลฯ ตามชุมชนต่างๆ สาเหตุเนื่องมาจากกำลังซื้อที่น้อยลง รวมไปถึงความจำเป็นที่ต้องกักตัวเพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง “โจทย์ของเราคือจะทำอย่างไรให้สามารถเชื่อมต่อ ช่วยเหลือ สนับสนุน รักษาไว้ได้ทั้งร้านค้ารายเล็ก ที่เป็นเสมือนหนึ่งฟันเฟืองจำนวนมหาศาลที่มีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานราก และ ร่วมลดภาระค่าใช้จ่ายของลูกค้าเอไอเอส ผ่านความแข็งแกร่งของเรา จึงเป็นที่มาของการนำเสนอ “มาตรการ พารอด” เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำให้ภารกิจนี้สำเร็จได้ตามความตั้งใจ”
โดยมาตรการนี้ได้ทั้งการกระตุ้นการจับจ่ายให้เกิดรายได้กับบรรดาร้านค้ารายเล็ก ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ พร้อมช่วยลดภาระและบรรเทาค่าใช้จ่ายของลูกค้า AIS ผ่านการใช้พอยท์เป็นส่วนลดแทนเงินสดอีกด้วย โดยหลังจากการเปิดบริการอย่างไม่เป็นทางการ (Soft launch) ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีร้านค้าสมัครเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1,000 ร้านค้า เอไอเอสตั้งเป้าร้านค้าเข้าร่วมโครงการ 100,000 ร้านค้าในปีนี้
มาตรการพารอด คือ การกระตุ้นพลังการใช้จ่ายจากลูกค้าเอไอเอส กว่า 42.7 ล้านราย ให้หันมาช่วยกันซื้อสินค้าจากร้านค้ารายย่อยทุกรูปแบบ โดยใช้ AIS Points เป็นส่วนลดแทนเงินสดเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของลูกค้า โดยเชิญชวนให้ร้านค้าเข้าร่วมโครงการผ่านแอปพลิเคชั่น “เอไอเอส พารวย” และใช้เป็นช่องทางรับชำระค่าสินค้าและบริการ
ในขณะที่ลูกค้าเอไอเอส จะใช้ AIS Points เป็นส่วนลดแทนเงินสด ผ่านแอปพลิเคชั่น myAIS นอกจากนี้ร้านค้ายังได้โปรโมทร้านค้าผ่าน myAIS เข้าถึงผู้ใช้งานมากกว่า 1 ล้านครั้งต่อวัน พร้อมฟังก์ชั่น “สิทธิพิเศษใกล้คุณ” ที่ให้ลูกค้าสามารถค้นหาร้านค้าที่อยู่ใกล้ในรัศมี 3 กิโลเมตร นับเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการช่วยเหลือเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ ให้ลูกค้าสามารถอุดหนุนร้านค้ารายย่อย อาทิ ครัวคุณแหม่มเกษะโกมล, น้ำส้มคั้นสดคุณสา, ร้านเครปคาเฟ่บายเครปแป้งอร่อย ฯลฯ
ในส่วนของร้านค้า สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ โดยจะได้รับอนุมัติภายใน 5 นาที ไม่มีค่าธรรมเนียมใดๆ เพียงใช้เบอร์มือถือเอไอเอส แล้วดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น เอไอเอส พารวย ฟรีได้ที่ App Store และ Google Play แล้วใส่รายละเอียดเพื่อสมัครเข้าร่วมโครงการ จากนั้นเมื่อเริ่มใช้เป็นช่องทางชำระเงิน โดยทางร้านจะได้รับเงินสดเข้าบัญชีภายในวันรุ่งขึ้นทันที ทั้งนี้สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ais.th/เอไอเอสพารวย หรือที่ พารวย คอลเซ็นเตอร์ 1742
ส่วนลูกค้าเอไอเอสนั้น จะได้รับสิทธิประโยชน์จาก AIS Points ที่มีมูลค่า 1 พอยท์ = 50 สตางค์ เป็นส่วนลดในร้านค้าที่ร่วมโครงการได้ง่ายๆ เช่นกัน โดยสามารถเลือกชำระด้วยพอยท์ได้เต็มจำนวนที่ใช้จ่าย แบบไม่ต้องใช้เงินสด หรือ ใช้ AIS Points คู่กับเงินสด พร้อมทั้งยังสามารถใช้จ่ายได้ตามพอยท์ที่ลูกค้ามีอยู่แบบไม่มีโควต้าจำกัด
จากข้อมูลพบว่าปัจจุบันลูกค้าที่อยู่ในโปรแกรม AIS Points มีถึงกว่า 17 ล้านคน การเพิ่มพอยท์ให้ลูกค้าเอไอเอส และเอไอเอส ไฟเบอร์ นอกเหนือจากการสะสมผ่านยอดค่าใช้บริการทุก 25 บาท ได้รับ 1 พอยท์แล้ว เรายังมีจัดทำแคมเปญอย่างต่อเนื่อง เช่น ลูกค้าที่ล็อคอินผ่านแอป myAIS ครั้งแรกรับ 10 พอยท์, ลูกค้าที่สมัคร e-Bill รับ 60 พอยท์ และลูกค้าที่ร่วมสนุกเล่นเกมผ่านแอป myAIS เป็นต้น นอกจากนี้ยังจับมือกับพันธมิตรหลากหลาย ให้ลูกค้าสามารถโอนคะแนนจากพันธมิตรมาเป็น เอไอเอส พอยท์ได้ เช่น บางจาก ซิติแบงค์ และ เคแบงค์ เป็นต้น
นางบุษยา กล่าวทิ้งท้ายว่า มาตรการพารอด เป็นส่วนหนึ่งของการคิดเร็ว ทำเร็ว เพราะต้องการเร่งเชื่อมต่อ ช่วยเหลือ ร้านค้าที่เราคุ้นเคยให้อยู่รอดได้ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก พร้อมมอบสิทธิพิเศษให้ลูกค้าได้ใช้ประโยชน์ ตอบสนองการใช้ชีวิตที่จำเป็นผ่าน AIS Points ทั้งนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ และเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของเราในการเป็น Digital Life Service Provider ที่พร้อมนำขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีมาสร้างประโยชน์ให้แก่คนไทยในยามนี้ไม่มากก็น้อย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ก.ค. 64)
Tags: ADVANC, บุษยา สถิรพิพัฒน์กุล, เอไอเอส, แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส