นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงความจำเป็นที่ควรต้องมีการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิดเข็ม 3 เป็นบูสเตอร์ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ โดยระบุว่า วัคซีนซิโนแวกหลังจากฉีดสองเข็ม จะเห็นภูมิคุ้มกันที่ยับยั้งไวรัสได้ที่ 30 วันหลังจากฉีดเข็มที่สอง
ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบภูมิคุ้มกันในเลือด รวมทั้งคนที่ปฏิบัติงานในห้อง lab ที่ต้องเจอเชื้ออยู่ตลอดทุกวัน พบว่าระดับภูมิคุ้มกันลดลงอย่างรวดเร็ว แม้ว่าในระยะแรกจะสูงถึง 90% ก็ตกลงมาเหลือ 30 ถึง 40% และเมื่อทำการวิเคราะห์รายที่ภูมิคุ้มกันยังอยู่ในระดับพอใช้ได้ คือ 70% ปรากฏว่าสู้กับไวรัสอัลฟา (อังกฤษ) และเดลตา (อินเดีย) แทบไม่ได้เลย
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขด่านหน้า มีโอกาสจะเจอผู้ติดเชื้อทั้งที่มีและไม่มีอาการอยู่ตลอดเวลา เมื่อติดมีโอกาสแพร่เชื้อให้ผู้อื่นทั้งผู้ป่วยและเพื่อนร่วมงาน เกิดปัญหาในผู้ป่วยและเกิดปัญหาที่บุคลากรต้องหยุดงานพักตัว กักตัว และกับโรคของตนเอง
“ที่พวกเราร้องขอวัคซีนบูสเตอร์ เข็มที่สาม และให้ข้อมูลว่าเมื่อฉีดเข็มที่สามด้วยวัคซีนที่ต่างจากซิโนแวกไปแล้ว จะทำให้ภูมิสูงขึ้นมากและทนทานต่ออัลฟาและเดลตาได้ เรียนย้ำพวกเราไม่ใช่วีไอพี ไม่ใช่คนที่มีอภิสิทธิ์กว่าประชาชนคนไทยทั้งประเทศ แต่เพื่อให้ทำงานต่อไปได้เพื่อไม่ให้แพร่เชื้อไปหาคนอื่นได้มากหลาย”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.ค. 64)
Tags: Sinovac, ซิโนแวก, ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา, บุคลากรทางการแพทย์, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, โควิด-19, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์