ที่ประชุมกลุ่ม G20 ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีกระทรวงการคลังและผู้ว่าธนาคารกลางของประเทศมหาอำนาจได้สนับสนุนให้มีการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลทั่วโลกขั้นต่ำ 15% รวมทั้งกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ ที่จะบังคับใช้ เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติ ด้วยเป้าหมายที่จะสรุปแผนการณ์ที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ให้กับระบบการจัดเก็บภาษีในระดับสากล
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า การเจรจาต่อรองที่ใช้เวลาหลายปีในเรื่องดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของรัฐบาลหลาย ๆ ประเทศที่จะเพิ่มรายได้ เพื่อนำรายได้มาฟื้นฟูประเทศหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งความเหนื่อยหน่ายที่มีต่อบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐที่คาดว่า จะเลี่ยงภาษีด้วยการใช้ประโยชน์จากประเทศที่เก็บภาษีในระดับต่ำ
เอกสารที่ได้มีการเผยแพร่ภายหลังการประชุมที่จัดขึ้นเป็นเวลา 2 วันที่เมืองเวนิซ ประเทศอิตาลี ระบุว่า เราได้รับรองในองค์ประกอบที่สำคัญ ๆ ของข้อตกลงที่ประเทศต่าง ๆ ประมาณ 130 ประเทศได้บรรลุร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นภาษี
ในขณะที่รายละเอียดของข้อตกลงยังคงต้องดำเนินการสรุปต่อไป เช่น ประเด็นเรื่องอัตราภาษีขั้นต่ำที่ชัดเจน โดยประเทศที่เข้าร่วมในการเจรจาต่อรองดังกล่าว ตั้งเป้าว่า จะนำกฎเกณฑ์ใหม่นี้มาใช้ในปี 2566
นายทาโร่ อาโสะ รัฐมนตรีกระทรวงคลังญี่ปุ่น กล่าวในการแถลงข่าวว่า ระบบภาษีสากลจะกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ในรอบศตวรรษเลยทีเดียว
ทั้งนี้ บรรดารัฐมนตรีและผู้ว่าธนาคารกลางกลุ่มประเทศ G20 ยอมรับว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกนั้นดีขึ้นในขณะที่มีการฉีดวัคซีนและมีการสนับสนุนด้านนโยบายอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เตือนด้วยว่า การแพร่ระบาดของไวรัสกลายพันธุ์และการเข้าถึงวัคซีนที่ไม่เท่าเทียมกันนั้นถือเป็น “ความเสี่ยงช่วงขาลง”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ก.ค. 64)
Tags: G20, ทาโร่ อาโสะ, บริษัทข้ามชาติ, ประชุม G20, ภาษี, ภาษีนิติบุคคล, ภาษีสากล