ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ประชุมพิจารณาเห็นชอบประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 36) ภายหลังจากที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้มีการประกาศใช้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.64 เป็นต้นไป โดยจำเป็นต้องยกระดับความเข้มข้นของมาตรการและการบังคับใช้อย่างจริงจัง เพื่อแก้ไขและบรรเทาสถานการณ์ฉุกเฉินให้คลี่คลายลงโดยเร็ว ซึ่งได้กำหนดมาตรการที่มุ่งลดและจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทางของบุคคลเพื่อลดการติดต่อสัมผัสระหว่างกัน สำหรับใช้ในพื้นที่เป้าหมายเพื่อสกัดกั้นการระบาดให้อยู่ในวงจำกัด พร้อมกับควบคุมการระบาดให้ได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ เป็นมาตรการทำนองเดียวกับที่เคยใช้เมื่อเดือนเม.ย.64 แต่ปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันยิ่งขึ้น โดยมาตรการนี้ยังคงมุ่งจำกัดการเคลื่อนย้ายลดการรวมกลุ่มของบุคคล และเร่งรัดมาตรการด้านการป้องกันและการควบคุมโรค การรักษาพยาบาล และการฉีดวัคซีนเพื่อลดความรุนแรงของโรค ขณะเดียวกันก็ยังคงมาตรการเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจพื้นฐานยังคงดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ได้เห็นชอบดังนี้
1.การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 น. และห้ามการบริโภคในร้าน
2.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 น. และเปิดให้บริการเฉพาะการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ยาและเวชภัณฑ์ ซูเปอร์มาร์เก็ต เครื่องมือช่างและอุปกรณ์การก่อสร้าง ธนาคาร สถาบันการเงิน หรือธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ไปรษณีย์และพัสดุภัณฑ์ การให้บริการซ่อมแซมหรือบำรุงรักษาการให้บริการฉีดวัคซีนหรือบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขอื่น ๆ และส่วนที่เป็นที่ทำการของรัฐหรือเอกชน
3. ร้านสะดวกซื้อ ตลาดนัด ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน ให้เปิดดำเนินการได้จนถึงเวลา 20.00 น. สำหรับร้านสะดวกซื้อซึ่งเปิดให้บริการในช่วงเวลากลางคืน ให้ปิดให้บริการในระหว่างเวลา 20.00 น. ถึงเวลา 04.00 น.ของวันรุ่งขึ้น
4. สวนสาธารณะ ลานกีฬา สนามกีฬาหรือสถานที่ออกกำลังกายที่เป็นพื้นที่โล่งแจ้ง ให้เปิดได้ จนถึงเวลา 20.00 น.
5.สถานประกอบการนวดแผนไทย (รวมทั้งบริการนวดฝ่าเท้า) สปา สถานเสริมความงามและสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ให้ปิดดำเนินการ สำหรับร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม ให้ยังคงเปิดดำเนินการได้ตามเงื่อนไขก่อนหน้านี้และให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
6.ห้ามการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 5 คนขึ้นไป หากประสงค์จะจัดกิจกรรมในช่วงระยะเวลานี้ ให้ดำเนินการขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบและทบทวนมาตรการป้องกันโรคในการจัดกิจกรรมให้เหมาะสม
7. โรงเรียน สถาบันการศึกษาหรือฝึกอบรม และสถานศึกษาต่าง ๆ ยังคงให้ปิดดำเนินการ
ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.64 เป็นต้นไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.ค. 64)
Tags: COVID-19, กทม., ล็อกดาวน์, เคอร์ฟิว