รัฐบาลญี่ปุ่นและสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) ได้ตกลงที่จะทำงานร่วมกันเพื่อตรวจสอบการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ได้รับการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะลงสู่ทะเลตามที่รัฐบาลวางแผนไว้
กระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ญี่ปุ่นมองว่าการมีส่วนร่วมของ IAEA มีความสำคัญในแง่ของการรับรองความน่าเชื่อถือและความโปร่งใสในกระบวนการตรวจสอบ ท่ามกลางการคัดค้านอย่างรุนแรงจากประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ ต่อแผนการปล่อยน้ำที่บำบัดแล้วลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก
กระทรวงฯ ระบุว่า ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ญี่ปุ่นและ IAEA จะให้ความร่วมมือในการตรวจสอบความปลอดภัยและกฎระเบียบของการปล่อยน้ำ รวมถึงการประเมินผลกระทบของการปล่อยน้ำบำบัดแล้วลงสู่ทะเล
ขณะเดียวกัน คณะทำงานจะถูกจัดตั้งขึ้นในสำนักเลขาธิการของ IAEA เพื่อให้การสนับสนุน และจะประกอบด้วยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ที่คัดเลือกโดย IAEA จากประเทศสมาชิก
ในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตัดสินใจที่จะปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ซึ่งได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อเดือนมี.ค. 2554
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า น้ำที่สูบเข้าไปในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ได้รับความเสียหายของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ เพื่อทำความเย็นให้กับเชื้อเพลิงที่หลอมละลาย และผสมเข้ากับน้ำฝนและน้ำใต้ดินนั้น ได้รับการบำบัดด้วยการใช้ระบบแปรรูปของเหลวที่ก้าวล้ำ
ทั้งนี้ กระบวนการดังกล่าวจะกำจัดสารกัมมันตภาพรังสีส่วนใหญ่ ยกเว้นทริเทียม (tritium) ซึ่งมีความเสี่ยงต่อสุขภาพเพียงเล็กน้อย หากมีความเข้มข้นต่ำ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.ค. 64)
Tags: IAEA, ญี่ปุ่น, น้ำปนเปื้อน, มหาสมุทรแปซิฟิก, สารกัมมันตรังสี, โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ