ผลการวิจัยล่าสุดซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร The New England Journal of Medicine ระบุว่า วัคซีนของบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้น้อยกว่าวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ อิงค์ เมื่อมีการทดลองเปรียบเทียบการฉีด 2 โดสในประเทศชิลี
ผลการวิจัยระบุว่า วัคซีน “โคโรนาแวค” จากบริษัทซิโนแวคของจีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 เพียง 66% เมื่อเทียบกับวัคซีนของไฟเซอร์-บิออนเทคซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันสูงถึง 93%
ผลการวิจัยยังพบว่า เมื่อมีการฉีดวัคซีนครบ 2 โดส วัคซีนของซิโนแวคมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตได้น้อยกว่าวัคซีนของไฟเซอร์ซึ่งใช้เทคโนโลยี mRNA โดยที่ผ่านมานั้น ชิลีมีการฉีดวัคซีนซิโนแวคให้กับประชาชนมากกว่า 10 ล้านคน ขณะที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับประชาชนในจำนวนที่น้อยกว่า 5 แสนคน
ทั้งนี้ การวิจัยดังกล่าวได้จัดทำขึ้นในเดือนก.พ.จนถึงเดือนพ.ค.ปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการตรวจพบไวรัสสายพันธุ์อัลฟาและแกมมามากที่สุดในประเทศชิลี
กระทรวงสาธารณสุขของชิลีเปิดเผยว่า ณ วันที่ 10 พ.ค. ทางกระทรวงได้ฉีดวัคซีนของบริษัทซิโนแวคให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปแล้วเกือบ 14 ล้านโดส ซึ่งเพียงพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนจำนวน 6.36 ล้านคน แต่ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ชิลีได้ฉีดวัคซีนของไฟเซอร์-บิออนเทคให้กับประชาชนเพียง 2.4 ล้านโดส
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ก.ค. 64)
Tags: Pfizer, Sinovac, ชิลี, ซิโนแวก ไบโอเทค, วัคซีนต้านโควิด-19, ไฟเซอร์ อิงค์