EIC คาดหนี้ครัวเรือนไทย H2/64 ยังทรงตัวสูงจากพิษโควิดเพิ่มความเสี่ยง Debt Overhang

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยในช่วงที่เหลือของปี 64 มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยคาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ณ สิ้นปี 64 จะอยู่ในช่วง 88-90% ซึ่งชะลอลงเล็กน้อยจากในไตรมาสที่ 1/64 ที่ 90.5% ตามการทยอยฟื้นตัวของ GDP

แต่อย่างไรก็ตามยังมีความเป็นไปได้ที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนภายในปี 64 อาจปรับเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ได้อีก หากผลของการแพร่ระบาดโควิด-19 มีความรุนแรงและต่อเนื่อง ทำให้ GDP ลดต่ำลงกว่าที่คาด ซึ่งจากประมาณการของ EIC ในกรณีฐาน Real GDP ปี 64 จะเติบโตที่ 1.9%

การที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่จะยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องสะท้อนว่าภาคครัวเรือนไทย มีความเสี่ยงต่อการเผชิญกับภาวะ Debt Overhang คือ ภาวะของการมีหนี้สูงจนเป็นปัญหาต่อการใช้จ่าย และการก่อหนี้ใหม่ในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนในด้านต่างๆของภาคครัวเรือน เช่น การลงทุนเพื่อซื้อสินทรัพย์หรือการลงทุนในด้านการศึกษา

ภาวะ Debt Overhang จะยังเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นหนี้เสียที่จะกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินได้อีกด้วย จากงานศึกษาของ BIS3 พบว่า หากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงกว่าระดับ 80% จะส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป สำหรับสัดส่วนของไทยนั้นได้สูงเลยจุดนั้นมาแล้วตั้งแต่ไตรมาส 1/63 ในระยะต่อไปครัวเรือนจึงจำเป็นต้องมีการซ่อมแซมงบดุลของตนเองด้วยการปรับลดการใช้จ่ายและการก่อหนี้ไปพร้อมๆกับการเพิ่มรายได้ เพื่อให้สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ปรับลดลง(deleveraging)

EIC ประเมินว่าสถานการณ์หนี้ของภาคครัวเรือนที่เกิดขึ้นจริงอาจแย่กว่าที่สัดส่วนหนี้ต่อ GDP บ่งชี้จากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ครัวเรือน (จากข้อมูลการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ) ที่มีแนวโน้มสูงกว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สาเหตุมาจากการที่รายได้ภาคครัวเรือนโตช้ากว่า GDP โดยเฉลี่ย และในช่วงโควิดแนวโน้มดังกล่าวนี้ก็น่าจะยังมีต่อเนื่อง จากผลกระทบต่อภาคครัวเรือนที่รุนแรงสะท้อนจากการตกงานและสูญเสียรายได้ของคนทำงานจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ โดยรายได้ของแรงงานที่ได้รับค่าจ้างในไตรมาส 1/64 ลดลงถึง 8.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ Nominal GDP ลดลงเพียง 2.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ในปีนี้เศรษฐกิจไทยยังสามารถได้รับแรงหนุนจากการส่งออกที่ขยายตัวดี แต่ภาคการส่งออกโดยเฉพาะการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมีการใช้แรงงานไม่มากนักเมื่อเทียบกับการจ้างงานในภาคบริการ

อีกทั้งรายได้จากการส่งออกยังกระจุกตัวอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่จำนวนไม่มาก ทำให้การให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐแก่ภาคครัวเรือนทั้งในรูปแบบของมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจ และการเพิ่มศักยภาพในการหารายได้โดยการปรับและเพิ่มทักษะแรงงาน ยังเป็นสิ่งจำเป็นในภาวะที่เศรษฐกิจ ภาคครัวเรือนยังคงมีความเปราะบางสูง

ขณะที่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศที่ลากยาวมาต่อเนื่อง ทำให้แนวโน้มความต้องการสินเชื่อเร่งตัวขึ้นมากเมื่อเทียบกับการเติบโตที่เกิดขึ้นของสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ ประกอบกับมาตรฐานการให้สินเชื่อที่มีแนวโน้มระมัดระวังมากขึ้น สะท้อนว่าครัวเรือนบางส่วนที่ต้องการสินเชื่ออาจไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้ ทำให้มีแนวโน้มต้องพึ่งพาหนี้นอกระบบ ซึ่งจะต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่ามาก ทำให้เกิดความเสี่ยงของปัญหาวังวนของกับดักหนี้ได้ในอนาคต

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ค. 64)

Tags: , , , , ,
Back to Top