นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เผยผลหารือกับนายคริสเตียน เรเรน บาร์เกตโต (H.E. Mr. Christian Rehren Bargetto) เอกอัครราชทูตชิลีประจำประเทศไทย ว่า ได้มีการหารือร่วมกันใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ ประเด็นที่ 1 ชิลีขอให้ไทยช่วยสนับสนุนการขอเข้าร่วมทำ FTA ระหว่างอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ซึ่งจะมีการประชุมกรรมการร่วมระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ในวันที่ 21-22 ก.ค.นี้ และได้เชิญชิลีเข้าร่วมในการหารือเรื่องนี้แล้ว ประเด็นที่ 2 ชิลีสนใจนำเข้าผลไม้ไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะมังคุดและลองกอง และประเด็นที่ 3 ชิลีพร้อมร่วมมือกับไทยในการพัฒนาวัคซีนต่อไป
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ขณะที่ได้หยิบยก 2 ประเด็นใหญ่ขึ้นหารือ คือ ประเด็นที่ 1 ไทยขอให้ทางชิลีช่วยสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกของไทย 3 กิจกรรมสำคัญ ได้แก่ 1) กิจกรรมเจรจาธุรกิจออนไลน์ (Online Business Matching: OBM) ในกลุ่มสินค้าอาหาร เครื่องประดับ และชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะจัดขึ้นในวันที่ 3 ส.ค.64 ซึ่งมีกลุ่มประเทศละตินอเมริกาและแอฟริกาได้ตอบรับเข้าร่วมด้วย
2) THAIFEX – ANUGA ASIA 2021 “The Hybrid Edition” ซึ่งเป็นการจัดงานใหญ่ที่เกี่ยวกับอาหาร โดยปีนี้มีแนวทางการจัดงานแบบไฮบริดที่ผสมผสานทั้งออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกัน และกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 ก.ย.- 3 ต.ค.64 ที่อิมแพค เมืองทองธานี
และ 3) งาน Tilog Virtual Exhibition เป็นงานแสดงสินค้าเสมือนจริงครั้งแรกสำหรับผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 ส.ค.64 โดยจะมีการจัดเจรจาการค้า Online Business Matching ควบคู่ พร้อมกิจกรรมพิเศษต่างๆ และให้คำปรึกษาด้านโลจิสติกส์ออนไลน์ และประเด็นที่ 2 ไทยขอให้ชิลีสนับสนุนการทำหน้าที่การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ในปี 2565
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ไทยสามารถใช้ชิลีเป็นประตูส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาได้ ซึ่งชิลีเหมาะจะใช้เป็นจุดตั้งศูนย์กระจายสินค้า โดยกระทรวงพาณิชย์พร้อมสนับสนุนเอกชนในการลงทุนตั้งศูนย์กระจายสินค้าดังกล่าว ทั้งนี้ ชิลียังเป็นตลาดใหญ่ในการส่งออกสินค้าไทย โดยเฉพาะทูน่า สับปะรดกระป๋อง เครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้า ตู้เย็นตู้แช่ ผลิตภัณฑ์ยาง และรถยนต์อะไหล่รถยนต์ และไทยสามารถขยายการส่งออกไปชิลีเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต
ปัจจุบันไทยมี FTA รวม 13 ฉบับ 18 ประเทศ โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับประเทศคู่ FTA มีมูลค่าการค้าถึง 3.9 ล้านล้านบาท ขยายตัว 19% เพิ่มขึ้นมากกว่ามูลค่าการค้าไทยกับโลกที่เพิ่มขึ้น 15.9% และสินค้าที่มีศักยภาพของไทยในประเทศคู่ FTA ได้แก่ สินค้าเกษตร อาทิ สินค้ากสิกรรม ประมง และปศุสัตว์ การส่งออกขยายตัวถึง 20% ขณะที่ส่งออกไปโลกขยายตัวเพียง 14.3% นอกจากนี้ ไทยยังมีสินค้าเกษตรแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) ที่ถือว่ามีศักยภาพในการส่งออกไปยังประเทศคู่ FTA อีกด้วย
ทั้งนี้ ความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ชิลี (Thai-Chile FTA) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งปัจจุบันทั้งสองฝ่ายได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าส่งออกระหว่างกัน 98% ของรายการสินค้าทั้งหมดแล้ว ปัจจุบันชิลีเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทยในลาตินอเมริกา รองจาก เม็กซิโก บราซิล และอาร์เจนตินา โดยใน 5 เดือนแรกของปี 2564 (ม.ค.-พ.ค.) การค้าระหว่างไทยและชิลีมีมูลค่า 476.0 ล้านเหรียญสหรัฐ (14,453.5 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ร้อยละ 30.6 เป็นการส่งออกมูลค่า 258.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (7,793.1 ล้านบาท)
สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 217.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (6,660.4 ล้านบาท) สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป เยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์แปรรูป ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ค. 64)
Tags: FTA, กระทรวงพาณิชย์, การค้าเสรี, คริสเตียน เรเรน บาร์เกตโต, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, ชิลี, ส่งออก