รายงานชี้ประเทศที่มีอัตราฉีดวัคซีน-อัตราติดโควิดสูงส่วนใหญ่ใช้วัคซีนจีน

ผลการวิเคราะห์ของสำนักข่าวซีเอ็นบีซีบ่งชี้ว่า ในบรรดาประเทศที่มีทั้งอัตราการฉีดวัคซีนและอัตราการติดเชื้อโควิด-19 สูงนั้น ส่วนใหญ่พึ่งพาวัคซีนที่ผลิตในประเทศจีน

รายงานดังกล่าวมีขึ้น ในขณะที่ประสิทธิภาพของวัคซีนจากจีนกำลังถูกตรวจสอบมากขึ้น เนื่องจากวัคซีนของจีนยังขาดข้อมูลในด้านประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่แพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าเดิม โดยซีเอ็นบีซีพบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดรายสัปดาห์ซึ่งปรับค่าตามจำนวนประชากรยังคงเพิ่มสูงขึ้นในอย่างน้อย 6 ประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงที่สุดในโลก และมี 5 ประเทศในกลุ่มดังกล่าวใช้วัคซีนจากจีน

ซีเอ็นบีซีได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลของ 36 ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อยืนยันรายใหม่มากกว่า 1,000 รายต่อประชากร 1 ล้านรายในรอบสัปดาห์ โดยใช้ตัวเลขจาก Our World in Data ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ รวมถึงองค์การอนามัยโลก (WHO), รัฐบาลต่างๆ และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด โดยมี 6 ประเทศในกลุ่มดังกล่าวมีประชากรมากกว่า 60% ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส

ในจำนวน 6 ประเทศนั้น มี 5 ประเทศที่ใช้วัคซีนจากจีนเป็นวัคซีนหลักในโครงการฉีดวัคซีนทั่วประเทศได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, เซเชลส์, มองโกเลีย, อุรุกวัย และชิลี ส่วนอีก 1 ประเทศที่มีการฉีดวัคซีนให้กับประชากรมากกว่า 60% แล้วคืออังกฤษซึ่งไม่ได้ใช้วัคซีนจากจีน

สำนักข่าว Montsame ของมองโกเลียรายงานเมื่อเดือนพ.ค.ว่า มองโกเลียได้รับวัคซีน 2.3 ล้านโดสจากซิโนฟาร์มซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน ขณะที่ได้รับวัคซีนสปุตนิก ไฟว์ของรัสเซียจำนวน 80,000 โดส และวัคซีนจากไฟเซอร์-บิออนเทคประมาณ 255,000 โดส

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ชิลีฉีดวัคซีนซิโนแวคของจีนกว่า 16.8 ล้านโดสให้กับประชาชน เทียบกับของไฟเซอร์-บิออนเทคจำนวน 3.9 ล้านโดส และวัคซีนอื่นๆ อีก 2 ชนิดในจำนวนที่น้อยกว่า

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และเซเชลส์พึ่งพาวัคซีนซิโนฟาร์มเป็นหลักในช่วงเริ่มต้นโครงการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ แต่ในภายหลังได้เริ่มใช้วัคซีนจากประเทศอื่นๆ เพิ่มเติม ส่วนในอุรุกวัยนั้น วัคซีนของซิโนแวคเป็น 1 ใน 2 วัคซีนที่ใช้มากที่สุด ควบคู่ไปกับของไฟเซอร์-บิออนเทค

ขณะเดียวกัน อังกฤษได้อนุมัติใช้วัคซีนของโมเดอร์นา, แอสตร้าเซนเนก้า, ไฟเซอร์และแจนเซ่น โดยผู้ติดเชื้อในอังกฤษเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาได้แพร่ระบาดมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีหลายปัจจัยที่อาจทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูง เนื่องจากวัคซีนไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อได้ 100% ดังนั้น ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วยังสามารถติดเชื้อได้อยู่ ในเวลาเดียวกัน เชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ อาจสามารถต้านทานวัคซีนได้มากขึ้น

รายงานระบุว่า หลายประเทศและดินแดนที่อนุมัติการใช้งานวัคซีนซิโนฟาร์มและซิโนแวคนั้นส่วนมากเป็นประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งไม่สามารถแข่งขันกับประเทศที่ร่ำรวยกว่าเพื่อจัดซื้อวัคซีนที่พัฒนาในสหรัฐและยุโรปได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ค. 64)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top