นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ยันยันจะไม่มีการอนุญาตให้บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ก่อสร้างโรงงานใหม่ทดแทนโรงงานเดิมในจังหวัดสมุทรปราการที่เกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ไปเมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นโรงงานที่มีอันตรายจะต้องอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม
“ขอยืนยันว่าจะไม่มีการสร้างโรงงานใหม่ในพื้นที่เดิม หากบริษัทจะดำเนินการต่อไปก็ต้องย้ายไปอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จะไม่มีการก่อสร้างโรงงานที่เป็นอันตรายในพื้นที่ชุมชน” นายสุริยะ กล่าว
รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการขนย้ายสารสไตลีนโมโนเมอร์จำนวน 600 ตันออกไปกำจัด คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 วัน ขณะเดียวกันได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมตรวจสอบสภาพสิ่งแวดล้อม ทั้งน้ำและอากาศ เบื้องต้นพบว่า คุณภาพอากาศมีความปลอดภัย ส่วนคุณภาพน้ำนั้น สารปนเปื้อนจะสลายตัวไปภายใน 45 วัน จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่หลีกเลี่ยงการนำน้ำไปอุปโภคและบริโภค
ทั้งนี้ จะมีการตรวจคุณภาพน้ำและอากาศซ้ำเป็นระยะๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยของประชาชน
สำหรับการเยียวยาประชาชนในพื้นที่นั้นได้รับแจ้งจากทางบริษัท หมิงตี้ฯ ว่าจะรับผิดชอบทั้งหมด โดยจะมีการตั้งจุดรับแจ้งเหตุจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจำนวน 3 จุด คือ 1.บริเวณหน้าที่ตั้งบริษัทฯ 2.สภ.บางแก้ว และ 3.สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการ
รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า เพื่อป้องกันการเกิดเหตุซ้ำอีก ตนเองได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมมีหนังสือแจ้งไปยังอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศให้ลงไปตรวจสอบโรงงานที่เข้าข่ายใช้สารเคมีอันตรายที่มีอยู่จำนวน 446 แห่ง เพื่อกำชับให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด และสั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดไปหารือเรื่องแผนป้องกันอุบัติภัย
ส่วนกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานของบริษัท ฟลอรอลแมนูแฟคเจอริ่งกรุ๊ป ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังนั้นจะมีขั้นตอนการปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น การนำน้ำดับเพลิงไปบำบัดให้เป็นไปตามเกณฑ์ก่อนระบายสู่ธรรมชาติ
ขณะที่ นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ถึงแม้จะมีคำสั่งปิดกิจการบริษัท หมิงตี้ฯ ไปแล้วแต่ไม่ใช่การถอนใบอนุญาต สำหรับโรงงานที่เกิดเหตุนี้มีการขยายกำลังการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ โดยการปรับปรุงเครื่องจักรให้มีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 4 หมื่นตัน/ปี แต่การประกอบกิจการจริงอาจไม่ได้ใช้กำลังการผลิตเต็มพิกัด ถึงแม้โรงงานจะไม่ต้องจัดทำผลศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (HIA) และรายงานผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) เนื่องจากจัดตั้งมาราว 30 ปี ก่อนที่จะมีกฎหมายบังคับใช้ แต่บริษัทก็ต้องจัดทำแบบประเมินผลกระทบความเสี่ยง และมีการตรวจสอบที่เข้มงวดทุกปี
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องอุบัติเหตุ เกิดขึ้นตอนตีสาม…ไม่ได้ย่อหย่อนเรื่องการกำกับดูแล เพราะยังมีกฎหมายที่ให้ผู้ประกอบการได้ประเมินความเสี่ยงตัวเอง” นายประกอบ กล่าว
ด้านนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการสต๊อกสารเคมีอันตรายในระดับที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดเหตุรุนแรงขึ้นอีก
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ค. 64)
Tags: กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์, ประกอบ วิวิธจินดา, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, สไตลีนโมโนเมอร์, หมิงตี้ เคมีคอล