ตัวแทนและอัยการรัฐจาก 37 รัฐของสหรัฐร่วมกันยื่นฟ้องร้องกูเกิลซึ่งเป็นของบริษัทอัลฟาเบท โดยระบุว่า แนวทางการทำงานของกูเกิลในการดูแลแอปสโตร์สำหรับผู้ใช้แอนดรอยด์นั้น เป็นการละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาด
การฟ้องร้องครั้งนี้เป็นหนึ่งในการฟ้องร้องจำนวนมากที่กูเกิลเผชิญในสหรัฐ หลังผู้พัฒนาแอปหลายรายร้องเรียนเกี่ยวกับการจัดการเพลย์สโตร์ (Play Store) ของกูเกิลที่บังคับให้แอปพลิเคชันบางรายการต้องใช้เครื่องมือชำระเงินของกูเกิลเท่านั้น ซึ่งจะทำให้กูเกิลได้รับค่าธรรมเนียมมากถึง 30% ของยอดขายสินค้าดิจิทัล
ในสำนวนฟ้องระบุว่า “เพื่อให้สามารถเก็บค่าธรรมเนียมและคงไว้ซึ่งค่าธรรมเนียมที่สูงระดับนี้ กูเกิลได้ใช้กลยุทธ์ต่อต้านการแข่งขัน เพื่อตัดโอกาสและขัดขวางการแข่งขันในการเผยแพร่แอปพลิเคชันแอนดรอยด์” และ “กูเกิลไม่เพียงแต่โจมตีแอปสโตร์ที่เป็นคู่แข่งเท่านั้น แต่ยังดำเนินการต่างๆ เพื่อทำให้ผู้พัฒนาแอปจะไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องเผยแพร่แอปของตนผ่านทางเพลย์สโตร์ของกูเกิล”
เมื่อเดือนก.ย. 2563 กูเกิลประกาศว่าจะยกระดับความเข้มงวดในการบังคับใช้นโยบายมากขึ้น จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้พัฒนาแอปจำนวนมาก ขณะนี้ เพลย์สโตร์ของกูเกิลนั้นได้รับการยอมรับในหมู่ผู้ใช้มากกว่าผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกันของบริษัทแอมะซอน, ซัมซุง และหัวเว่ยเป็นอย่างมาก
การฟ้องร้องครั้งนี้ได้รับเสียงชื่นชมจากเมแกน ดิมูซิโอ กรรมการบริหารของ Coalition for App Fairness ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนของบริษัทอย่างแมทช์ กรุ๊ปและสปอติฟาย ที่คัดค้านกฎบางประการของเพลย์สโตร์
“การขัดขวางไม่ให้เกิดการแข่งขันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรม ทั้งยังจำกัดอิสรภาพของผู้บริโภค ทำให้ราคาสูงขึ้น และจำกัดการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาระหว่างผู้พัฒนาแอปและผู้บริโภค”
ดิมูซิโอกล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ค. 64)
Tags: Google Play, Play Store, กูเกิล, ผูกขาด, สหรัฐ, อัลฟาเบท, เพลย์สโตร์, แอนดรอยด์, แอปพลิเคชัน