นพ.โอภาส การ์ยกวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ร่วมกันปรับยุทธศาสตร์เร่งฉีดวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงในพื้นที่สีแดงเข้มหรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยคาดว่าประชาชนในกลุ่มนี้จะได้รับวัคซีนภายในเดือนก.ค.-ส.ค. 64 ในขณะเดียวกันก็ได้เร่งฉีดวัคซีนแก่กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต จึงอาจมีบางรายที่ได้รับการติดต่อเพื่อเลื่อนวันนัดหมายฉีดวัคซีนให้เร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าวัคซีนที่มีอยู่ในประเทศไทยในขณะนี้ ทั้งวัคซีนซิโนแวก และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิภาพในการป้องกันและมีความปลอดภัยในระดับสูง รวมถึงวัคซีนไฟเซอร์ที่จะนำเข้ามาเร็วๆ นี้ ได้มีการพิจารณาถึงประสิทธิภาพของวัคซีน และความสามารถในการลดการติดเชื้อ ป่วยหนัก และลดการเสียชีวิต โดยเน้นพิจารณาเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก ซึ่งวัคซีนที่จะนำมาใช้ในประเทศไทยต้องได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และต้องได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนทุกชนิด
จากการศึกษาประสิทธิผลหลังการใช้จริงของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ในประเทศอังกฤษ พบว่าสามารถลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ 89% หลังฉีด 2 เข็ม โดยมีประสิทธิผลในการป้องกันการเสียชีวิตในผู้สูงอายุ 80% ในสก็อตแลนด์ พบว่าสามารถลดความรุนแรงของโรคที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลสูงถึง 88% ในอิตาลี พบว่าสามารถลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในทุกกลุ่มอายุ 95% หลังจากฉีดวัคซีนไปแล้ว 35 วัน ส่วนในเกาหลี พบว่าลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ 90% หลังฉีดเข็มแรกไปแล้ว 14 วัน
“ขณะนี้ ประเทศไทยฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้วกว่า 4 ล้านโดส โดยมีอาการที่เข้าข่ายว่าเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำเพียง 2-3 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนหาสาเหตุ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า โอกาสในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำในประเทศไทยมีจำนวนน้อย”
น.พ.โอภาส กล่าว
ส่วนวัคซีนซิโนแวก จากการศึกษาประสิทธิผลหลังการใช้จริงในอินโดนีเซีย พบว่าหลังจากฉีดวัคซีนครบ 2 โดส สามารถป้องกันอาการป่วยได้ 94% และสามารถป้องกันการเสียชีวิตได้ 98% ด้านบราซิล หลังจากฉีดวัคซีนครบ 2 โดส สามารถป้องกันอาการป่วยได้ 80% และสามารถป้องกันการเสียชีวิตได้ 95% ในชิลี พบว่าสามารถป้องกันการป่วยรุนแรงได้ 89%
ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าวัคซีนซิโนแวกยังไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง ซึ่งประเทศไทยจากที่ได้มีการฉีดวัคซีนชนิดนี้แล้วจำนวนกว่า 7 ล้านโดส ก็ยังไม่พบรายงานผลข้างเคียงที่รุนแรงเช่นกัน
สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ จากการศึกษาประสิทธิผลหลังการใช้จริงในอิสราเอล พบว่าหลังฉีดครบ 2 โดส สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 95.3% ป้องกันอาการป่วยรุนแรง 97.5% และป้องกันการเสียชีวิตได้ 96.7% โดยไวรัสที่ระบาดหลักๆ ในอิสราเอล คือสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ด้านสหรัฐฯ พบว่าวัคซีนชนิด mRNA (ทั้งวัคซีนไฟเซอร์ และโมเดอร์นา) มีประสิทธิผลในการลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ 90% หลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 แล้วเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์
ด้านความปลอดภัยของวัคซีนไฟเซอร์ ทางศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (CDC) รายงานว่า มีผู้ได้รับวัคซีนเกิดอาการข้างเคียงจำนวน 8 ราย จาก 1 ล้านราย โดยมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบในกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีแผนจะนำเข้ามาใช้ จึงอนู่ระหว่างการศึกษาและติดตามผลข้างเคียงอย่างใกล้ชิด
พร้อมกันนี้ พบว่าหลายบริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาผลิตวัคซีนรุ่น 2 เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพให้ดีขึ้น เช่น ไฟเซอร์ และแอสตร้าเซนเนก้า
นพ.โอภาส ยังกล่าวถึงผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือผู้ที่มีประวัติสัมผัสความเสี่ยงสูงที่มีความจำเป็นต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา แนะนำว่าหากเป็นไปได้ขอให้อาศัยอยู่ที่เดิม และติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอความช่วยเหลือ
แต่หากจำเป็นต้องเดินทางจริงๆ ควรเตรียมพร้อมก่อนเดินทางดังนี้
- ติดต่อศูนย์ประสานงานรับคนกลับบ้านของจังหวัดปลายทาง หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือโรงพยาบาลของจังหวัดปลายทางที่ผู้ป่วยประสงค์จะเดินทางกลับ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ประเมินอาการ เตรียมความพร้อมรองรับการรักษาหรือกักตัว และให้คำแนะนำสำหรับการเดินทาง
- เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวเท่านั้น โดยผู้ขับรถหากไม่เคยติดเชื้อ จะต้องสวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ตลอดเวลา และเปิดหน้าต่างให้มีการระบายอากาศบ่อยๆ
- เตรียมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และเจลแอลกอฮอล์ให้เพียงพอ รวมทั้งถุงใส่ขยะส่วนตัว
- เตรียมยาให้พร้อมทั้งยาบรรเทาอาการป่วยโควิด-19 และยารักษาโรคประจำตัว
- จัดเตรียมอาหารและน้ำให้เพียงพอตลอดการเดินทาง ไม่ควรแวะสถานที่อื่นระหว่างทาง
- จัดเตรียมข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือกรณีเกิดการเจ็บป่วย หรือมีเหตุฉุกเฉินขณะเดินทาง
ระหว่างการเดินทางควรมีการปฏิบัติ ดังนี้ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดการเดินทาง, หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก โดยไม่จำเป็น, ล้างมือบ่อยๆ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร และเมื่อเข้าห้องน้ำหรือหลังไอจาม, ห้ามแวะพักระหว่างการเดินทาง ให้ตรงไปยังโรงพยาบาลหรือสถานที่ที่ได้รับแจ้งไว้เท่านั้น, หากจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำสาธารณะ ต้องล้างมือทั้งก่อนและหลังใช้ห้องน้ำ และ 6.เปิดหน้าต่างหรือเปิดช่องหน้าต่างให้มีการหมุนเวียนของอากาศภายในรถยนต์
เมื่อเดินทางถึงจุดหมายปลายทาง ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลหรือสถานที่ที่ได้รับประสานก่อนล่วงหน้า เพื่อรับการรักษาหรือแยกกัก โดยผู้ป่วยหรือผู้ที่มีความเสี่ยงต้องปฎิบัติตามข้อกำหนดของผู้ดูแลโรงพยาบาลหรือสถานที่แยกกักอย่างเคร่งครัด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.ค. 64)
Tags: AstraZeneca, COVID-19, Pfizer, Sinovac, กทม., กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข, กรุงเทพมหานคร, ซิโนแวก, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, แอสตร้าเซนเนก้า, โควิด-19, โอภาส การ์ยกวินพงศ์, ไฟเซอร์