ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บมจ.แสนสิริ (SIRI) ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต”Stable” หรือ “คงที่” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน ไม่มีประกันและไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการ (Hybrid Debentures) ที่ระดับ “BBB-“
ขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 6 พันล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “BBB+” ด้วย โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปทดแทนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระในเดือนสิงหาคม 2564 (SIRI218A) และใช้ในการดำเนินงาน
อันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้สะท้อนถึงการที่บริษัทมีสินค้าที่หลากหลาย สถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งทั้งในตลาดบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนในระดับค่อนข้างสูง นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความกังวลของทริสเรทติ้งต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ที่ยืดเยื้อซึ่งอาจสร้างแรงกดดันต่อความต้องการที่อยู่อาศัยและความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการมากขึ้นอีก
การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลต่อผลการดำเนินงานและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญในปี 2563 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าบริษัทจะได้รับแรงกดดันน้อยลงในการใช้กลยุทธ์ด้านราคาและไม่มีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารอื่นที่นอกเหนือจากปกติเพิ่มเข้ามาในปีนี้
ทั้งนี้ คาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะอยู่ที่ 2.9-3.0 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566 โดยรายได้จากธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยจะยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 90% ของรายได้จากการดำเนินงานรวม ทริสเรทติ้งยังคาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะปรับดีขึ้นเป็น 20%-21% และอัตรากำไรสุทธิจะปรับดีขึ้นเป็น 7%-8% ของรายได้จากการดำเนินงานรวมตลอดช่วงประมาณการ
นอกจากนี้ ในสมมติฐานของทริสเรทติ้งยังรวมถึงความคาดหวังที่บริษัทจะสามารถส่งมอบยอดขายรอการรับรู้รายได้ได้ตามแผนอีกด้วย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 บริษัทมียอดขายรอการรับรู้รายได้จำนวน 2.21 หมื่นล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยยอดขายรอการรับรู้รายได้ในโครงการของบริษัทเองจำนวน 1.82 หมื่นล้านบาท และในโครงการร่วมทุนจำนวน 3.9 พันล้านบาท บริษัทคาดว่าจะส่งมอบยอดขายรอการรับรู้รายได้มูลค่า 1.06 หมื่นล้านบาทให้แก่ลูกค้าในช่วงที่เหลือของปี 2564 มูลค่า 8 พันล้านบาทในปี 2565 มูลค่า 3.3 พันล้านบาทในปี 2566 และมูลค่า 0.2 พันล้านบาทในปี 2567
ณ เดือนมีนาคม 2564 บริษัทมีโครงการบ้านจัดสรรระหว่างการพัฒนา 59 โครงการและโครงการคอนโดมิเนียม 22 โครงการ (รวมโครงการคอนโดมิเนียมภายใต้การร่วมทุน 7 โครงการ) ซึ่งมีมูลค่าเหลือขายรวม 6.63 หมื่นล้านบาท (รวมทั้งที่ก่อสร้างแล้วและยังไม่ได้ก่อสร้าง) ทั้งนี้ โครงการบ้านจัดสรรคิดเป็น 60% ของมูลค่าเหลือขายทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นโครงการคอนโดมิเนียม การมีสินค้าที่หลากหลายและมีแบรนด์ที่มีชื่อเสียงทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการนำเสนอสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและรักษาสถานะทางการตลาดเอาไว้ได้ในภาวะที่ตลาดมีการแข่งขันที่รุนแรง
ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะยังคงอยู่ที่ 62%-64% อัตราส่วนดังกล่าวอาจไม่ได้ปรับลดลงมากนักแม้ว่าบริษัทมีแผนจะเปิดตัวโครงการบ้านจัดสรรมากกว่าโครงการคอนโดมิเนียม เนื่องจากบริษัทจะเน้นการเปิดโครงการคอนโดมิเนียมของบริษัทเองมากกว่าโครงการร่วมทุน นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนลงทุนต่อเนื่องในธุรกิจรับจ้างบริหารโรงแรมภายใต้แบรนด์ The Standard ในช่วงปี 2564-2565
และยังคาดว่าบริษัทจะจัดหาแหล่งเงินทุนโดยใช้เงินกู้ 70% และทุน 30% สำหรับค่าที่ดินและค่าก่อสร้างตลอดระยะเวลาในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมภายใต้การร่วมทุน แม้ว่าสภาพแวดล้อมจะไม่เอื้ออำนวยจากทั้งภาวะเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ แต่ก็คาดว่าบริษัทจะระมัดระวังในการขยายธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยและธุรกิจสนับสนุนอื่น ๆ ทั้งนี้ บริษัทควรรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนให้ต่ำกว่า 66% และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินให้อยู่ในช่วง 5%-10%
ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทยังสามารถบริหารจัดการได้ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ณ เดือนมีนาคม 2564 แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดจำนวน 2.7 พันล้านบาท หลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดจำนวน 0.7 พันล้านบาท และวงเงินกู้ยืมจากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้ ไม่ติดเงื่อนไข และไม่สามารถยกเลิกได้จำนวน 1.63 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทยังมีที่ดินเปล่าที่ปลอดภาระค้ำประกันมูลค่าตามบัญชีจำนวน 1.08 หมื่นล้านบาท และสินค้าเหลือขายในโครงการที่ปลอดภาระหนี้ของบริษัทซึ่งมีมูลค่าขายอีกจำนวน 6 พันล้านบาท
นอกจากนี้ ยังคาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทในปี 2564 จะอยู่ที่ 3.2 พันล้านบาทอีกด้วย บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 2.43 หมื่นล้านบาทซึ่งประกอบด้วยตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้น 1.3 พันล้านบาท ตั๋วแลกเงินระยะสั้น 1.8 พันล้านบาท เงินกู้ระยะยาวของโครงการ 6.1 พันล้านบาท ตั๋วสัญญาใช้เงินระยะยาวค่าที่ดิน 1.9 พันล้านบาท หุ้นกู้ 1.31 หมื่นล้านบาท และหนี้สินตามสัญญาเช่า 0.1 พันล้านบาท
ณ เดือนมีนาคม 2564 บริษัทมีหนี้สินทางการเงินรวม (ตามการพิจารณาลำดับชั้นในการได้รับคืน) เท่ากับ 6.45 หมื่นล้านบาท ซึ่งรวมถึงหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนจำนวน 1.91 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ หนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนเป็นหนี้ที่มีหลักประกันในบริษัทแม่และบริษัทย่อยต่าง ๆ ดังนั้น อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินทางการเงินรวมอยู่ที่ประมาณ 30% เนื่องจากอัตราส่วนดังกล่าวน้อยกว่า 50% ตามเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้ของทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งจึงพิจารณาว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันจึงไม่มีความเสียเปรียบอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับเจ้าหนี้ในลำดับชั้นที่อยู่สูงกว่า
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของบริษัทจะเป็นไปตามที่ประมาณการไว้ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนให้ต่ำกว่า 66% และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินให้อยู่ในช่วง 5%-10% ตลอดช่วงประมาณการ นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินทุนถาวรให้เกินกว่า 5% เอาไว้ได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับลดลงได้หากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยืดเยื้อส่งผลเป็นไปในทางที่ทำให้เชื่อว่าผลการดำเนินงานและ/หรือสถานะทางการเงินของบริษัทจะอ่อนแอลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้หากสถานะทางการเงินของบริษัทดีขึ้นเทียบเท่ากับผู้ประกอบการที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับที่สูงกว่า โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนควรอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 55% และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินเพิ่มขึ้นเป็น 10%-15% ในระยะเวลาหนึ่ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.ค. 64)
Tags: SIRI, ทริสเรทติ้ง, หุ้นกู้, หุ้นไทย, แสนสิริ