ตลาดน้ำมันโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ โดยมีตัวแปรสำคัญคือกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ซึ่งเป็นผู้กุมชะตาราคาน้ำมันมานานหลายทศวรรษ หลายฝ่ายมองว่าความสัมพันธ์ของชาติสมาชิกโอเปกพลัสอาจมาถึงทางตัน หลังจากพี่ใหญ่อย่างซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) งัดข้อกันอย่างหนักในประเด็นนโยบายการผลิตอย่างชนิดไม่มีใครยอมใคร ส่งผลให้การประชุมโอเปกพลัสเจอโรคเลื่อนถึง 3 ครั้งภายในเวลาไม่ถึง 7 วัน และยังทำให้ราคาน้ำมันผันผวนอย่างหนักในสัปดาห์นี้
ข้อพิพาทระหว่างซาอุดีอาระเบีย และ UAE ถือเป็นเรื่องที่ไม่ปรากฏให้เห็นบ่อยนัก เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นมหามิตรกันมายาวนาน โดยเฉพาะในช่วงที่ซาอุดีอาระเบียยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับ UAE พร้อมด้วยบาห์เรนและอียิปต์ในฐานะกลุ่ม 4 ชาติอาหรับ (Arab Quartet) ที่ร่วมกันฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตในกลุ่มสภาความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) เพื่อกอดคอกันเผชิญหน้ากับความท้าทายและภัยคุกคามจากภายนอก
ส่องบรรยากาศการประชุมโอเปกพลัส: จัด 3 ครั้ง ล่มทั้ง 3 ครั้ง
โอเปกพลัสประกาศจัดการประชุมนโยบายการผลิตน้ำมันในวันพฤหัสบดีที่ 1 ก.ค. 2564 ซึ่งคณะกรรมการร่วมด้านการตรวจสอบระดับรัฐมนตรี (JMMC) ของโอเปกพลัสได้ยิงข่าวประชาสัมพันธ์ออกไปทั่วโลกว่าจะมีการประชุมชุดใหญ่ในวันดังกล่าว … เมื่อวันประชุมมาถึง ทุกฝ่ายต่างหันหน้าเจรจากันตามธรรมเนียมปฏิบัติ แต่แหล่งข่าวระบุว่า หลังจากเปิดการประชุมได้ไม่นาน โอเปกพลัสได้ตัดสินใจเลื่อนการประชุมออกไปเป็นวันศุกร์ที่ 2 ก.ค. ตามคำเรียกร้องของซาอุดีอาระเบียในฐานประธานคณะกรรมการ JMMC โดยอ้างว่าเพื่อให้ประเทศสมาชิกมีเวลามากขึ้นในการหารือกันเกี่ยวกับนโยบายการผลิตน้ำมัน
แต่แหล่งข่าววงในของโอเปกพลัสเปิดเผยว่า สาเหตุที่แท้จริงของการเลื่อนประชุมนั้น เกิดจากการงัดข้อกันระหว่างซาอุดีอาระเบีย และ UAE โดยซาอุดีอาระเบียเสนอให้เพิ่มกำลังการผลิตรวม 2 ล้านบาร์เรล/วัน ตั้งแต่เดือนส.ค.ไปจนถึงเดือนธ.ค. 2564 โดยให้ทยอยปรับเพิ่มเฉลี่ยเดือนละ 400,000 บาร์เรล/วันจนถึงเดือนธ.ค. และขยายเวลาในการลดกำลังการผลิตที่เหลือไปจนถึงปลายปี 2565 จากกำหนดการเดิมที่สิ้นสุดลงในเดือนเม.ย.ปีนี้ ซึ่งการขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตนี้เองที่ทำให้ UAE ไม่พอใจอย่างมาก เนื่องจากที่ผ่านมา UAE ได้เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และด้วยวิกฤตเดียวกันนี้เอง ทำให้โอเปกพลัสชะลอการปรับเพิ่มกำลังการผลิตเป็นระยะๆ ยิ่งทำให้ UAE ซึ่งพึ่งพาน้ำมันเป็นรายได้หลักต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์แบบซ้ำซ้อน
ต่อมาโอเปกได้จัดการประชุมอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 2 ก.ค. แต่เมื่อการเจรจาผ่านไปได้ไม่ถึงครึ่งทาง โอเปกพลัสได้ประกาศเลื่อนการประชุมออกไปอีกเป็นวันจันทร์ที่ 5 ก.ค. เนื่องจากที่ประชุมยังไม่สามารถลงมติเรื่องนโยบายการผลิตได้ โดยมีสาเหตุเดิมคือ UAE ไม่ยอมรับข้อเสนอของที่ประชุม แถมยังเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ในการกำหนดระดับการผลิตขั้นต่ำ โดยหวังว่าจะทำให้โควต้าการผลิตน้ำมันของ UAE เพิ่มขึ้น
กระทั่งถึงวันจันทร์ที่ 5 ก.ค. โอเปกจัดการประชุมใหญ่อีกรอบ และผลที่เกิดขึ้นยังคงเหมือนเดิม คือ UAE ไม่ยอมรับข้อเสนอ แต่คราวนี้หนักกว่าเดิมคือ UAE ดอดเข้าล็อบบี้สมาชิกรายอื่นๆ รวมถึงคูเวต, คาซัคสถาน, อาร์เซอร์ไบจาน และไนจีเรีย ให้ร่วมวงเรียกร้องโอเปกพลัสให้ทบทวนนโยบายการผลิต ด้วยการปรับเพิ่มเกณฑ์การผลิตขั้นต่ำ เพื่อให้สมาชิกได้มีโอกาสทำรายได้จากการผลิตน้ำมันเพิ่ม ในช่วงเวลาที่ต้องหาเงินเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 … การที่ UAE โน้มน้าวสมาชิกรายอื่นๆ ให้เข้าร่วมกดดันในครั้งนี้ ส่งผลให้การประชุมวันที่ 5 ก.ค.ต้องยุติลงกลางคันอีกครั้ง และยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบีย และ UAE ใกล้ถึงจุดแตกหัก
เมื่อเห็นว่าการเจรจาไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ นายโมฮัมหมัด บาร์คินโด เลขาธิการโอเปกได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า โอเปกพลัสตัดสินใจยกเลิกการประชุมในวันที่ 5 ก.ค. และเลื่อนการประชุมออกไป “โดยไม่มีกำหนด” เพราะนอกจากจะไม่มีการลงมติเรื่องนโยบายการผลิตน้ำมันแล้ว ประเทศสมาชิกโอเปกพลัสยังไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะจัดการประชุมครั้งต่อไปเมื่อใด สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้การประชุมครั้งนี้ล่มลงอย่างไม่เป็นท่า
ราคาน้ำมันผันผวนหนัก หลังโอเปกพลัสขัดแย้งนโยบายการผลิต
ในช่วงเช้าของวันอังคารที่ 6 ก.ค. ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) พุ่งขึ้นไปยืนเหนือระดับ 76 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากโอเปกพลัสตัดสินใจเลื่อนการประชุมโดยไม่มีกำหนด โดยในช่วงแรกนักลงทุนมองในมุมบวกว่า เมื่อการประชุมถูกเลื่อน ก็หมายความว่ายังไม่มีการปรับเพิ่มกำลังการผลิตในเดือนก.ค. แต่หลังจากนั้นไม่นาน ตลาดน้ำมันโลกเริ่มผันผวน โดยราคาน้ำมัน WTI เริ่มดิ่งลงเรื่อยๆ จนไหลมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 74 ดอลลาร์/บาร์เรลในการซื้อขายที่ตลาดนิวยอร์กเมื่อคืนนี้
เฮลิมา ครอฟท์ หัวหน้านักยุทธศาสตร์ด้านสินค้าโภคภัณฑ์ของบริษัทอาร์บีซี แคปิตอล มาร์เกตส์ กล่าวว่า ความขัดแย้งระหว่างซาอุดีอาระเบีย และ UAE กำลังบานปลายจากประเด็นนโยบายน้ำมันจนกลายเป็นปมการเมือง เพราะทุกฝ่ายรู้ดีว่าซาอุดีอาระเบียคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังการผลักดันนโยบายของโอเปกพลัส ซึ่งเป็นนโยบายที่อยู่บนพื้นฐานของการประนีประนอมกับโลกภายนอกโดยเฉพาะกับสหรัฐ โดยซาอุดีอาระเบียมองว่า แม้ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มผู้ผลิต แต่ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของบรรดาประเทศที่ต้องนำเข้าน้ำมันด้วย
ข่าวความขัดแย้งในที่ประชุมโอเปกพลัสทำให้รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐอยู่ไม่เป็นสุข เพราะข้อพิพาทของผู้ผลิตรายใหญ่กลุ่มนี้ทำให้ตลาดน้ำมันโลกเผชิญความผันผวนและส่งผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดยทำเนียบขาวออกแถลงการณ์ว่า “สหรัฐอเมริกากำลังจับตาความเคลื่อนไหวของกลุ่มโอเปกพลัสอย่างใกล้ชิด และจับตาผลกระทบที่จะมีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แม้ว่าสหรัฐไม่ได้มีส่วนร่วมในการประชุมโอเปกพลัส แต่เราก็มีส่วนในผลกระทบที่จะตามมา และเราขอเรียกร้องให้โอเปกพลัสเร่งหาทางออกด้วยการประนีประนอม เพื่อให้ข้อเสนอของโอเปกพลัสมีความคืบหน้า”
ผู้เชี่ยวชาญเตือนราคาน้ำมันเสี่ยงพุ่งแตะ 100 ดอลลาร์ หากโอเปกพลัสเจรจาไม่ลงตัว
นายแดน บรุยแย็ตต์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานสหรัฐ กล่าวให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ CNBC เมื่อวานนี้ว่า ความขัดแย้งของโอเปกพลัสทำให้มีโอกาสสูงมากที่ราคาน้ำมันจะพุ่งแตะระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ในขณะเดียวกันราคาน้ำมันก็มีโอกาสทรุดตัวลงอย่างหนัก หากข้อพิพาทยืดเยื้อนานเกินไป
“หากชาติสมาชิกโอเปกพลัสไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องการผลิตน้ำมัน และผลิตน้ำมันตามความต้องการของตัวเอง ก็อาจทำให้ราคาน้ำมันดิ่งลงอย่างหนักได้”
นายบรุยแย็ตต์กล่าวกับ CNBC โดยเขาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของสหรัฐในระหว่างปี 2562-2564
ขณะที่นายแดน เยอร์กิน รองประธานไอเอชเอส มาร์กิตและผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมน้ำมัน เตือนว่า ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงเกิน 100 ดอลลาร์/บาร์เรล อาจส่งผลกระทบต่ออุปสงค์น้ำมันในตลาด ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประเทศต่างๆ
“ผมคิดว่าหลายประเทศเข้าใจดีว่า ราคาน้ำมันระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรลนั้นไม่เป็นผลดีต่อประเทศ”
นายเยอร์กินกล่าว
“หากเป็นเช่นนั้น เราคงได้เห็นรัฐบาลของนานาประเทศทุ่มงบประมาณสนับสนุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า รวมถึงเห็นผลกระทบที่ราคาระดับดังกล่าวมีต่ออุปสงค์ในตลาด”
อันที่จริง การประชุมโอเปกพลัสในครั้งนี้นอกจากมีเป้าหมายเพื่อกำหนดนโยบายการผลิตน้ำมันในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 แล้ว ที่ประชุมยังวางแผนที่จะหารือกันเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ได้แก่ อุปสงค์น้ำมันจากสหรัฐ, ยุโรป และจีน รวมทั้งแนวโน้มที่อิหร่านจะกลับมาส่งออกน้ำมันในตลาดอีกครั้ง หากการเจรจาระหว่างสหรัฐและอิหร่านเกี่ยวกับข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2558 มีความคืบหน้าและสหรัฐยอมยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน … แต่การเจรจาของบรรดาสมาชิกโอเปกพลัสกลับวนอยู่กับ “การแบ่งเค้ก” เพื่อตักตวงรายได้ของตัวเอง จนทำให้สมาชิกไม่สามารถรุกคืบไปสู่การหารือกันในประเด็นอื่นๆ นอกเหนือไปจากเรื่องของการผลิตน้ำมันได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.ค. 64)
Tags: OPEC, OPEC+, ซาอุดีอาระเบีย, ตลาดน้ำมันโลก, ราคาน้ำมัน, ราคาน้ำมันโลก, สหรัฐ, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, โอเปก, โอเปกพลัส