อัตราเงินเฟ้อเดือนมิ.ย.ของฟิลิปปินส์ขยายตัวในอัตราต่ำสุดในรอบ 6 เดือน ซึ่งอาจเปิดทางให้ธนาคารกลางฟิลิปปินส์สามาถคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19
สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์ เปิดเผยในวันนี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญ ขยายตัว 4.1% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนพ.ค.ที่มีการขยายตัว 4.5% โดยดัชนี CPI เดือนมิ.ย.ได้รับแรงกดดันจากการปรับตัวลงของต้นทุนการเดินทาง
ดัชนี CPI เดือนมิ.ย.อยู่ในระดับต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 4.3% และอยู่ใกล้เคียงกับจุดต่ำสุดที่ธนาคารกลางคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3.9%-4.7%
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารและพลังงานที่มีความผันผวนสูง อยู่ที่ระดับ 3.0% ในเดือนมิ.ย. ซึ่งชะลอตัวลงจากระดับ 3.3% ในเดือนพ.ค.
สำหรับในช่วงครึ่งปีแรก อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 4.4% ซึ่งอยู่เหนือระดับเป้าหมายของธนาคารกลางที่ 2%-4% สำหรับปี 2564
นายเบนจามิน ดิออคโน ผู้ว่าการธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) ระบุว่า ความเสี่ยงที่จะมีต่อแนวโน้มเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับที่มีความสมดุล พร้อมกล่าวว่า ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอาจช่วยชดเชยอุปสงค์ในประเทศที่เศรษฐกิจอ่อนแอเนื่องจากมาตารควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19
ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ซึ่งจะทำการทบทวนการกำหนดนโยบายการเงินทุก ๆ 6 สัปดาห์ จะจัดการประชุมนโยบายครั้งต่อไปในวันที่ 12 ส.ค. โดยที่ผ่านมานั้น ธนาคารกลางได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ที่ระดับ 2.0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่เดือนพ.ย. 2563 เพื่อหวังฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.ค. 64)
Tags: CPI, ดัชนีราคาผู้บริโภค, ธนาคารกลางฟิลิปปินส์, ฟิลิปปินส์, เงินเฟ้อ, เบนจามิน ดิออคโน, เศรษฐกิจฟิลิปปินส์