นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สาเหตุที่ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะนี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก เนื่องจากเชื้อเกิดการกลายพันธุ์ ดังนั้นจึงได้เตรียมปรับแผนบริหารจัดการเพื่อการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งคาดว่าจะสามารถทำให้สถานการณ์คลี่คลายลงได้ภายใน 2 สัปดาห์
“เนื่องจากมีการกลายพันธุ์ ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้างในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนในต่างจังหวัดก็มาจากผู้ที่เดินทางไปจากกรุงเทพฯ แต่ยังสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จะมีการปรับเปลี่ยนแผนบริหารจัดการใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ประกอบด้วย 4 มาตรการ ได้แก่
1.ปรับมาตรการค้นหาผู้ติดเชื้อรายใหม่มาเข้าสู่การรักษา แยกกัก และควบคุมโรค โดยเน้นปกป้องผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 โรคเสี่ยง ให้ได้รับการตรวจ RT PCR ไม่จำกัดจำนวน และเชื่อมโยงให้เข้ารับการรักษาและแยกกักโรคใน รพ.ทันที เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยอาการหนักและผู้เสียชีวิต ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่เป็นวัยหนุ่มสาวให้ไปตรวจวิธีอื่น หากพบผลบวกจึงจะมาตรวจยืนยันอีกครั้งก่อนนำเข้าสู่ระบบรักษา ขณะที่การสอบสวนและควบคุมโรค จะเน้นสอบให้ครอบคลุมเหตุการณ์สำคัญ กลุ่มก้อน และจุดเสี่ยงการระบาดใหญ่ให้ทันเวลา และควบคุมเชิงรุกเฉพาะจุดเสี่ยงการระบาดรุนแรงวงกว้าง โดยประเมินความเสี่ยง และใช้มาตรการ Bubble and Seal
2.ปรับมาตรการทางการแพทย์เกี่ยวกับระบบการรักษาและการเชื่อมต่อเมื่อพบผู้ติดเชื้อให้สอดคล้องกับความเร่งด่วน เพื่อลดการเสียชีวิต โดยมีการขยายเตียงและเปิด รพ.สนามเฉพาะผุ้สูงอายุและผู้ป่วย 7 โรคเสี่ยง ส่วนผู้ติดเชื้อที่ไม่อาการและไม่ใช่ผู้สูงอายุ/เปราะบางให้รับการรักษาและแยกกักแบบ Home Isolation, พิจารณาให้สารสกัดฟ้าทะลายโจรกับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ และผู้ที่มีอาการน้อย และพิจารณาการให้ยา Favipiravir ที่บ้านในรายที่มีข้อบ่งชี้, ขยายและระดมทรัพยากรสำหรับผุ้ป่วยอาการรุนแรง และอาการปานกลาง ทั้งรูปแบบการปรับเตียงเขียวใน รพ.และอื่นๆ ให้มีไม่น้อยกว่าสองเท่าภายใน 2 สัปดาห์
3.ปรับมาตรการวัดซีน โดยระดมฉีดให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 โรคเสี่ยง โดยในกรุงเทพฯ ที่มีจำนวน 1.8 ล้านคนให้ได้ 70% ภายใน 2 สัปดาห์ ส่วนปริมณฑลให้ดำเนินการให้เสร็จภายในเดือน ก.ค.64 และจังหวัดอื่นๆ ที่มีจำนวน 17.85 ล้านคน ให้ดำเนินการให้เสร็จภายในเดือน ส.ค.64 และใช้วัคซีนช่วยควบคุมการระบาด โดยเฉพาะในจุดเสี่ยงการระบาดในวงกว้าง กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อสูง กลุ่มที่มีโอกาสแพร่กระจายเชื้อสูง
4.ปรับระดับมาตรการสังคมและองค์กรก่อนเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ โดยบังคับใช้มาตรการ Work from Home ในหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่หน่วยบริการป้องกันและควบคุมโรค และสถานประกอบการเอกชนขนาดใหญ่ให้ได้ 70% และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเพิ่มความเข้มข้นการปฏิบัติตามมาตรการดูแลสุขอนามัยส่วนตน และประยุกต์หลักการ Bubble and Seal ตัวเอง/ครอบครัว สำหรับการเดินทางไปทำงาน และลดการเดินทางออกนอกบ้าน
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สำหรับอัตราการครองเตียงของผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพิ่มขึ้นเกือบ 1 หมื่นเตียง จาก 19,430 เตียง เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.64 มาอยู่ที่ 28,247 เตียง เมื่อวันที่ 4 ก.ค.64 โดยผู้ป่วยทุกระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ดังนั้นจึงมีการขยายเตียงเพิ่มเติมอีก 2,608 เตียง และต้องใช้มาตรการ Home Isolation เพื่อช่วยลดความอ่อนล้าของบุคลากรทางการเพทย์
“เพิ่มสถานที่เพิ่มได้ แต่เพิ่มบุคลากรเพิ่มยาก จึงต้องทำ Home Isolation เราไม่อยากใช้ในช่วงที่ผ่านมา แต่สถานการณ์ขณะนี้บุคลากรตึงมือ พยายามปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ เพื่อให้ระบบสาธารณสุขยังคงอยู่ได้” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าสัดส่วนเชื้อสายพันธุ์อินเดียในภาพรวมทั้งประเทศเพิ่มขึ้นจาก 16.36% มาเป็น 32.2% ขณะที่ในกรุงเทพฯ มีสัดส่วนเชื้อสายพันธุ์อินเดีย 52% เข้ามาทดแทนสายพันธุ์อังกฤษที่มีสัดส่วนลดลงเหลือ 47.8% ส่วนในต่างจังหวัดยังมีสัดส่วนของสายพันธุ์อังกฤษมากถึง 77.6% และสายพันธุ์อินเดียแค่ 18%
“สายพันธุ์อินเดียมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว จากการตรวจพันธุกรรม พบว่ามีการระบาดใน 47 จังหวัดแล้ว” นพ.ศุภกิจ กล่าว
ส่วนสายพันธุ์แอฟริกาใต้นั้น ส่วนใหญ่ยังจำกัดวงอยู่ในจังหวัดนราธิวาส มีกระจายไปบ้างที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ และกรุงเทพฯ ที่เชื่อมโยงกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้
สำหรับข้อกังวลเกี่ยวกับภูมิต้านทานจากการฉีดวัคซีนที่มีใช้งานอยู่นั้น จะสามารถป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้หรือไม่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้เตรียมทดสอบภูมิคุ้มกันหลังได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีต่อเชื้อสายพันธุ์ต่างๆ โดยขณะนี้กำลังจัดเก็บเลือดจากผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวก 2 เข็ม, ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม, ฉีดวัควัคซีนแอสตร้าเซนนิก้าเข็มแรกเข็มเดียว, ฉีดวัคซีนซิโนแวกเข็มแรก และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มสอง, ฉีดวัคซีนซิโนแวก 2 เข็ม และกระตุ้นด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า, วัคซีนโมเดอร์น่า 2 เข็ม, ฉีดวัคซีนซิโนแวกเข็มแรก และวัคซีนโมเดอร์น่าเข็มสอง และฉีดวัควัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรก และวัคซีนโมเดอร์เข็มสอง
“เราจะเทสต์ทั้งหมดว่าวัคซีนแต่ละตัวดีแค่ไหน พยายามที่จะดำเนินการให้เร็ว เพื่อนำเสนอข้อสรุปที่ชัดเจนว่า บ้านเราควรใช้โมเดลการฉีดวัคซีนแบบไหนจึงจะเหมาะสม เพื่อนำเสนอต่อฝ่ายบริหาร” นพ.ศุภกิจ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.ค. 64)
Tags: COVID-19, กรมควบคุมโรค, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, กระทรวงสาธารณสุข, ศุภกิจ ศิริลักษณ์, เกียรติภูมิ วงศ์รจิต, โควิด-19, โควิดกลายพันธุ์, โอภาส การย์กวินพงศ์