- ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (12.30 น.)
- ผู้ติดเชื้อสะสม 289,233 คน (+6,166)
- เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ = 3,961 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน = 2,109 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง = 84 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 12 ราย
- รักษาหายแล้ว 223,437 คน (+2,534)
- รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 63,520 คน (+3,582)
- เสียชีวิตสะสม 2,276 คน (+50)
ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,166 ราย ประกอบด้วย
- ผู้ติดเชื้อในประเทศจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 3,961 ราย
- จากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 2,109 ราย และจากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 84 ราย
- ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 12 ราย มาจากเมียนมา 2 ราย และจากกัมพูชา 10 ราย
- มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 50 ราย แยกเป็นเพศชาย 34 ราย เพศหญิง 16 ราย อายุระหว่าง 28-91 ปี, ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังมาจาก กทม. 17 ราย, นนทบุรี 9 ราย, สมุทรปราการ 6 ราย, ฉะเชิงเทรา 3 ราย, นครปฐม นราธิวาส ปัตตานี สงขลา สมุทรสาคร จังหวัดละ 2 ราย, จันทบุรี นครนายก นครสวรรค์ ระยอง สุพรรณบุรี จังหวัดละ 1 ราย โดยยังพบมีโรคประจำตัว ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 จนถึงล่าสุดอยู่ที่ 289,233 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 223,437 ราย เพิ่มขึ้น 2,534 ราย ยอดเสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 2,182 ราย
ขณะที่จังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศรายใหม่ 10 อันดับแรก ได้แก่ กทม. 1,729 ราย, สมุทรปราการ 411 ราย, สมุทรสาคร 389 ราย, ปทุมธานี 352 ราย, สงขลา 318 ราย, ชลบุรี 279 ราย, นนทบุรี 270 ราย, พระนครศรีอยุธยา 212 ราย, นครปฐม 143 ราย, ปัตตานี 133 ราย
ทั้งนี้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เมื่อมีคำสั่งปิดแคมป์คนงานพบการเคลื่อนย้ายแรงงานตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย. มีผู้ติดเชื้อที่เดินทางจากกทม.และปริมณฑลจะกระจายตัวไปยังพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหลักมากกว่า 10 ราย ซึ่งสามารถรองรับสถานการณ์เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นอุบลราชธานี และศรีสะเกษ ซึ่งภายในหนึ่งสัปดาห์เตียงที่มีอยู่ 100% ใช้ไปแล้ว 60-70% และบุคลาการทางด้านสาธารณสุขในต่างจังหวัดยังมีกำลังใจที่ดี และพร้อมช่วยเหลือคนที่เดินทางมาจากกทม.ด้วย
สำหรับคลัสเตอร์ใหม่ที่พบในวันนี้ที่ จ.สมุทรสาคร เป็นโรงงานอาหารกระป๋องใน อ.เมือง พบผู้ติดเชื้อ 13 ราย และ โรงงานอาหารกระป๋องอีกแห่ง พบผู้ติดเชื้อ 14 ราย และที่โรงงานเสื้อผ้า อ.อ้อมน้อย พบผู้ติดเชื้อ 53 ราย, จ.ชลบุรี ที่บริษัทโลจิสติกส์ อ.ศรีราชา พบผู้ติดเชื้อ 12 ราย, จ.พระนครศรีอยุธยา ตลาดใหญ่วังน้อย อ.วังน้อย พบผู้ติดเชื้อ 181 ราย, จ.ตาก โรงงานเสื้อผ้า อ.แม่สอด พบผู้ติดเชื้อ 33 ราย, จ.ฉะเชิงเทรา ที่แคมป์ก่อสร้าง อ.เมือง พบผู้ติดเชื้อ 18 ราย
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า คลัสเตอร์ที่ตลาดที่สามารถเกิดซ้ำได้ ซึ่งทางคณะกรรมวิชาการหรือทางประเทศสิงค์โปร์เคยพูดว่าโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่นไปแล้ว การที่จะเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์คงเป็นไปได้ยาก แต่ต้องเน้นว่าหากพบผู้ติดเชื้อจะสามารถควบคุมให้อยู่ในพื้นที่จำกัดได้อย่างไร
ทั้งนี้ ที่ประชุม ศปก.ศบค. ได้รับทราบความต้องการเตียงที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก สำหรับผู้ป่วยสีเขียวต้องปรับให้เป็นระบบการรักษาตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation และระบบการรักษาตัวในชุมชน ซึ่งทางผู้ว่าราชการ กทม.ได้สั่งการสร้างสถานที่แยกกักในชุมชน เพิ่มเติมอีก 20 แห่ง และให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 วันนี้ ส่วนมาตรการการปรับเพิ่มเตียงสีเหลือง และสีแดง นั้น ได้มีการปรับวอร์ดที่อยู่ในโรงพยาบาลให้มาใช้กับผู้ป่วยโควิดมากขึ้น
“ตอนนี้จะปรับวอร์ดที่อยู่ในโรงพยาบาลนี่แหละครับ คนไข้ที่ไม่ใช่โควิดขอให้ถ้ารอได้รอไปก่อน อย่าเพิ่งแอดมิดเดี๋ยวมีการติดเชื้อ เอาผู้ป่วยที่เป็นโควิดที่เป็นสีเหลือง เข้าไปอยู่ในวอร์ดถึงแม้จะไม่พร้อมทั้งหมด แต่ยังดีกว่าไปอยู่ในโรงพยาบาลสนาม…นี่เป็นมาตรการระยะสั้นที่จะเพิ่มเตียงสีเหลือง สีแดงให้มากที่สุด”
นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นพ.ทวีศิลป์ ยอมรับว่า สายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในตอนนี้ คือ เดลต้า ซึ่งพบในหลายประเทศ และส่งผลให้ภาระดูแลโรคหนึ่งคนต้องใช้เวลา 14 วัน ซึ่งหลักการดูแลผู้ป่วยจากที่เคยติดเชื้อในตัวเลขหลักร้อยหลักพันต้องเปลี่ยนไป
สำหรับการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์แล้วพบคนไทยติดเชื้อโควิดในพื้นที่จะมีการทบทวนหรือไม่นั้น นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ทาง ผอ.ศปก.ศบค. ได้เทเลคอนเฟอร์เรนซ์กับผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเมื่อเช้านี้ ซึ่งได้รับรายงานการติดเชื้อในภูเก็ต วันที่ 1 ก.ค.พบผู้ติดเชื้อ 4 ราย วันที่ 2 ก.ค.พบผู้ติดเชื้อ 7 ราย วันที่ 3 ก.ค.พบผู้ติดเชื้อ 2 ราย วันที่ 4 ก.ค.พบผู้ติดเชื้อ 2 ราย ตัวเลขไม่ได้สูงขึ้น และผู้ที่รักษาตัวโรงพยาบาล ณ วันที่ 4 ก.ค. เพียง 48 ราย
และตั้งแต่วันที่ 1-4 ก.ค. มีนักท่องเที่ยวเข้าไปในภูเก็ตแล้ว 1,893 ราย โดยเป็นต่างชาติ 1,416 ราย เป็นคนไทย 477 ราย มีการตรวจหาเชื้อไปแล้ว 1,764 ราย รอผลอีก 129 ราย
ส่วนมาตรการดูแล คนไทยที่จะเข้าไปที่ภูเก็ตนั้น ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ตได้ออกมาตรการเข้มงวดว่าจะต้องได้รับวัคซีน 2 เข็มจึงจะสามารถเดินทางเข้าภูเก็ตได้
“ก็ขอว่า ตอนนี้เป็นช่วงทดสอบกับจังหวัดภูเก็ต ที่เป็นเกาะสามารถควบคุมการเข้าออกได้ ความสะดวกสบายก็ขอเป็นนักท่องเที่ยวก่อน ความไม่สะดวกไม่สบายกับพี่น้องคนไทยก็ขอให้เข้าใจกัน เพื่อเราจะได้ดูว่าโมเดลแบบนี้เราจะขับเคลื่อนต่อได้หรือไม่ ถ้าทำได้ดีสมุยรออยู่ พงันรออยู่ ที่เราจะได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวกลับมา”
นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
ขณะที่สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมแล้ว 184,562,051 ราย เสียชีวิต 3,993,319 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 34,592,377 ราย อันดับ 2 อินเดีย 30,584,872 ราย อันดับ 3 บราซิล 18,769,808 ราย อันดับ 4 ฝรั่งเศส 5,786,203 ราย และอันดับ 5 รัสเซีย 5,610,941 ราย โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 65
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.ค. 64)
Tags: COVID-19, ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน, ศบค., ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19, โควิด-19, โควิดวันนี้