นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว แนะแนวทางบริหารจัดการเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่มีการระบาดน้อย ด้วยการจัดลำดับความสำคัญของแผนกลยุทธ์ใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการบริหารทรัพยากร คือ เตียง, ห้องผู้ป่วยฉุกเฉิน และบุคลากรทางการแพทย์ให้เพียงพอ ไม่ใช่การเพิ่มโดยไม่มีขีดจำกัด
โดยแนวทางดังกล่าว คือ ลดการตรวจเชิงรุกเพื่อมาตรวจให้คนที่สงสัยว่าได้สัมผัสหรือรับเชื้อที่อยากตรวจและมีอาการ ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีอาการ ป้องกันตัวเองได้ และสามารถถึงแพทย์ได้เร็ว ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล สามารถติดตามเฝ้าระวังที่บ้านได้ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้บ่อยๆ ว่าเมื่อไหร่จึงจำเป็นต้องไปโรงพยาบาล การป้องกันตัวเองและครอบครัวทำอย่างไร
นพ.นิธิ กล่าวว่า ให้คิดใหม่นอกกรอบบนพื้นฐานวิทยาศาสตร์ คิดใหม่ทำใหม่เรื่องการให้ยาเร็วขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการหนัก เพราะทรัพยากรมีจำกัด ไม่ใช่รอให้ปอดอักเสบแล้วค่อยให้ยาต้านไวรัส ต้องให้ยาป้องกันแบบไข้หวัดใหญ่ ถ้าคนในครอบครัวคนใกล้ชิดตรวจพบมีผลบวกคนหนึ่งก็ให้ยาเลย
ขณะที่แพทย์อาจต้องปรับตัวกันในการทำงาน ข้ามความเฉพาะทาง เพราะยามสงครามยามไม่ปกติความเชี่ยวชาญเฉพาะทางตามมาตรฐานฝรั่งใช้ไม่ได้ในสนามรบ คนข้างนอกทั่วไปมองว่าหมอเป็นฮีโร่ ไม่ใช่หมอตา หมอหัวใจ หมอพยาธิ หรือหมออื่นๆ ที่จะดูคนไข้โควิด-19 ไม่ได้ และมองเป็นหมอที่รักษาโควิดได้ ดูแลคนไข้หนักในไอซียูได้ อาจต้องลดกำแพงความเฉพาะทางลงไปช่วยเพื่อนร่วมวิชาชีพ
“ยามศึกทหารราบ ทหารม้า ทหารเรือ ตำรวจ อาสาประชาชนจับปืนสู้โควิดได้ทุกคน”
นพ.นิธิ ระบุ
ส่วนคำแนะนำเรื่องวัคซีน
- อย่ารอเลือก
- คนได้ครบแล้วอย่ารีบแย่งเข็มสามเห็นใจคนที่ยังไม่ได้บ้าง ใครอยากได้ให้มาอยู่ในโครงการวิจัย
- ตัวเลขไม่ใช่สาระสำคัญ คนทั่วไปที่แยกถึงนัยสำคัญทางสถิติ นัยสำคัญทางคลินิก และนัยสำคัญทางสังคมไม่ได้จะแปลผลผิดพลาดไป
- ตัวเลขระดับภูมิคุ้มกันก็เช่นกัน ไม่ต้องไปรู้หรืออยากรู้ว่าสูงต่ำมีความหมายเท่าไหร่ อย่างไร เพราะยังไม่ชัดว่าระดับต่ำป้องกันไม่ได้ สูงป้องกันได้ การป้องกันติดเชื้อมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ก.ค. 64)
Tags: COVID-19, กทม., กรุงเทพมหานคร, นิธิ มหานนท์, ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, วัคซีนต้านโควิด-19, โควิด-19