รัฐบาลเยอรมนีได้แนะนำประชาชนที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เข็มแรกของแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว ให้เปลี่ยนไปฉีดวัคซีนชนิดอื่นในการฉีดเข็มที่สอง
ทั้งนี้ รัฐบาลเยอรมนีประกาศคำแนะนำประชาชนในวันศุกร์ (2 ก.ค.) ว่า ให้เลือกใช้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของไฟเซอร์หรือโมเดอร์นาในการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่สอง หลังจากที่เข็มแรกฉีดของแอสตร้าเซนเนก้า
รัฐบาลเยอรมนีประกาศคำแนะนำดังกล่าว หลังจากคณะกรรมการด้านการฉีดวัคซีนได้ออกคำแนะนำนั้นโดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 และร่นระยะเวลาระหว่างการฉีดวัคซีนสองเข็ม
คณะกรรมการฯ ได้แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มที่สองภายใน 4 สัปดาห์หรือมากกว่านั้นหลังจากฉีดวัคซีนโควิดของแอสตร้าฯเข็มแรก ซึ่งเร็วขึ้นจากที่เคยแนะนำให้ทิ้งระยะห่างนานถึง 9 สัปดาห์หรือมากกว่านั้นสำหรับการฉีดวัคซีนของแอสตร้าฯ ทั้งสองเข็ม
นายเจนส์ สปาห์น รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเยอรมนีคาดว่า ไวรัสสายพันธุ์เดลตาซึ่งพบครั้งแรกในอินเดีย จะคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 80% ของการติดเชื้อในเยอรมนีภายในสิ้นเดือนก.ค. ขณะที่จนถึงขณะนี้ ประชาชนเยอรมนีมากกว่า 55% ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อยหนึ่งเข็ม
นายสปาห์นระบุย้ำว่า การฉีดวัคซีนเข็มที่สองจะช่วยให้มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์เดลตา
กลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดของอังกฤษเปิดเผยผลการทดลองเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า การใช้วัคซีนโควิดของแอสตร้าฯ ร่วมกับวัคซีนของไฟเซอร์นั้น สามารถสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งกว่าการฉีดวัคซีนของแอสตร้าฯทั้งสองเข็ม
นายโจอาชิม ฮอมแบช หัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยในวันพฤหัสบดีว่า ผลการทดลองดังกล่าวนับเป็นข่าวดี ซึ่งจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับประเทศต่างๆ ซึ่งเผชิญกับภาวะขาดแคลนวัคซีน
แต่เขากล่าวเสริมว่า กำลังมีการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้วัคซีน 2 ชนิดร่วมกันที่นอกเหนือไปจากของแอสตร้าฯ และไฟเซอร์ โดยระบุว่า WHO ยังไม่ได้แนะนำให้ใช้วัคซีนโควิดตัวอื่นๆ ร่วมกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.ค. 64)
Tags: วัคซีนต้านโควิด-19, เยอรมนี, โมเดอร์นา, ไฟเซอร์