การบินไทยต้อนรับผู้โดยสารเที่ยวบินแรกบินตรงจากยุโรปสู่ภูเก็ตสนองนโยบายรัฐฯ

วันนี้ (3 ก.ค.64) บมจ. การบินไทย (THAI) จัดพิธีต้อนรับผู้โดยสารจากเที่ยวบินแรกที่เดินทางมาถึงจังหวัดภูเก็ต เที่ยวบินที่ ทีจี 923 เส้นทาง แฟรงก์เฟิร์ต-ภูเก็ต โดยมี นายนนท์ กลินทะ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บมจ.การบินไทย เป็นประธานในการต้อนรับ พร้อมด้วย นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา นางกัลยรัตน์ สุทธิพัฒนกิจ รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต สายสนับสนุนธุรกิจ นางอารีย์ ฉวีวรรณมาศ นายด่านศุลกากร ท่าอากาศยานภูเก็ต ให้เกียรติร่วมในพิธี ร่วมด้วยแขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชนร่วมต้อนรับผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต

นายนนท์ กลินทะ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ THAI เปิดเผยว่า เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้โมเดล ภูเก็ต แซนด์บ๊อกซ์ ด้วยการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบโดส ให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ตแบบไม่ต้องกักตัว และเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 “การบินไทย” ได้จัด 5 เที่ยวบินจากยุโรป ทำการบินตรงสู่ภูเก็ต ในเดือนกรกฏาคม-กันยายน 2564 ได้แก่ โคเปนเฮเกน แฟรงก์เฟิร์ต ปารีส ทำการบินทุกวันศุกร์ สัปดาห์ละ 1 เที่ยวบิน และลอนดอน และซูริก ทำการบินทุกวันเสาร์ สัปดาห์ละ1 เที่ยวบิน

นอกจากนี้ ยังมีแผนจัดเที่ยวบินเพิ่มเติมในตารางบินฤดูหนาวปี 2564 เพื่อรองรับการเดินทางอย่างต่อเนื่อง โดยเที่ยวบินแรกของการบินไทยที่ทำการบินสู่ภูเก็ต ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2564 ได้แก่ เที่ยวบินที่ ทีจี 923 เส้นทาง แฟรงก์เฟิร์ต-ภูเก็ต เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต เวลา 07.10 น. ตามด้วยเที่ยวบินที่ ทีจี 953 เส้นทาง โคเปนเฮเกน-ภูเก็ต และเที่ยวบินที่ ทีจี 933 เส้นทาง ปารีส-ภูเก็ต ตามลำดับ และในวันที่ 4 กรกฎาคม 2564 มีเที่ยวบินจากยุโรปอีก 2 เที่ยวบิน ได้แก่ เที่ยวบินที่ ทีจี 917 เส้นทาง ลอนดอน-ภูเก็ต และเที่ยวบินที่ ทีจี 973 เส้นทาง ซูริก-ภูเก็ต โดยจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางจากยุโรปทั้ง 5 เส้นทางดังกล่าว รวมประมาณ 300 คน

ทั้งนี้ เที่ยวบินในเส้นทางจากยุโรปมาภูเก็ตของการบินไทย เพื่อสนับสนุนโครงการภูเก็ต แซนด์บ๊อกซ์ ในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี จำนวนยอดจองที่นั่งล่วงหน้าของผู้โดยสารโดยรวมตลอดเดือนกรกฎาคม 2564 อยู่ที่ประมาณ 1,300 คน

บริษัทฯ พร้อมปฏิบัติการบินอย่างมีมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (Hygiene Excellence) รวมทั้งได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (Amazing Thailand Safety & Health Administration : SHA) จากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งการบินไทยและไทยสมายล์เป็นสองสายการบินแรกของประเทศไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ SHA เนื่องจากให้ความสำคัญในความปลอดภัยด้านสุขอนามัย ทั้งนี้ World Travel & Tourism Council (WTTC) หรือสภาการท่องเที่ยวโลก ได้ให้การรับรองว่าสถานประกอบการที่ได้รับมาตรฐาน SHA จะได้มาตรฐานตามข้อกำหนด SafeTravels ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยบริษัทฯ ได้ให้พนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ในการให้บริการผู้โดยสาร จัดทำ Physical Distancing เพื่อลดการสัมผัสระหว่างบุคคล รวมทั้งเน้นย้ำให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินขณะปฏิบัติหน้าที่บนเที่ยวบิน สวมชุดป้องกัน สวมหน้ากากอนามัย และถุงมือ

อีกทั้ง บริษัทฯ ได้ทำการฉีดพ่นสเปรย์ฆ่าเชื้อโรค ทำความสะอาดแบบ Deep Cleaning และทำความสะอาด 36 จุดสัมผัสร่วม ในอากาศยานทุกลำหลังเครื่องลงจอด ตลอดจนติดตั้งระบบกรองอากาศภายในเครื่องบินทุกลำ ด้วยแผงกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (HEPA: High Efficiency-Particulate-Air) ซึ่งผู้โดยสารสามารถมั่นใจได้ว่าการบินไทยปฏิบัติการบินในทุกเที่ยวบินตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย รวมทั้ง ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) อย่างเคร่งครัด

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top